UNODC เข้าเยี่ยมคารวะ บิ๊กหลวง รักษาราชการ เลขาธิการ ป.ป.ส.
1 min readเมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2566 พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้การต้อนรับ นายเจเรมี ดักลาส (Mr. Jeremy Douglas) ผู้แทนสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก พร้อมคณะฯ โดยมี นางสาวศรีตระกูล เวลาดี ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ และนางสาวกัญญนันท์ คงภัสนิธิโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด ร่วมให้การต้อนรับ ในโอกาสเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการ ณ ห้องรับรองเภา สารสิน สำนักงาน ป.ป.ส.
นายเจเรมี ดักลาส ได้แสดงความยินดีกับเลขาธิการ ป.ป.ส. ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง พร้อมขอบคุณในความร่วมมืออันดีระหว่างสองหน่วยงานตลอดเวลาที่ผ่านมา โดย UNODC ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์การลักลอบค้าและผลิตยาเสพติดในแถบประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่จะร่วมกับประเทศไทยในการทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยมีแผนดำเนินโครงการเชิงยุทธศาสตร์ และเชิงปฏิบัติการในทุกมิติ ทั้งในระดับภูมิภาค และในระดับโลก รวมถึงการขยายความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพของประเทศสมาชิกบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่ายฯ ตลอดจนดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านยาเสพติดผ่านวิทยาลัยป้องกันและปราบปรายาเสพติดระหว่างประเทศ (วปส.) การขยายการดำเนินงานร่วมกับศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (ศป.มข.) และการขยายการสนับสนุนการเก็บรวบรวมข้อมูลยาเสพติด ซึ่ง UNODC มีความพร้อมและยินดีสนับสนุนการทำงานของประเทศไทย
ด้าน พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้แสดงความขอบคุณและชื่นชม UNODC ที่สนับสนุนและร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นอย่างดียิ่งโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการปรับปรุงและพัฒนา วปส. รวมมูลค่ากว่า 130,000 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา รวมถึงการบริจาคอุปกรณ์เรดาห์พร้อมจอแสดงผล ให้กับสำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อส่งมอบให้หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบ ที่ 25 สำหรับปฏิบัติการประจำจุดตรวจเกาะสะระนีย์ จังหวัดระนอง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับหน่วยงานด่านหน้าในการสกัดกั้นยาเสพติดบริเวณชายแดน
ในโอกาสนี้ ลปส. ได้แลกเปลี่ยนแนวนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick win) ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีกวาการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเน้นการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดและผลกระทบทางสังคม และต้องดำเนินการให้เห็นเป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติในการใช้สาธารณสุขนำ โดยมีแนวทางหลัก 2 ปฏิบัติการ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา คือ 1) การแก้ไขผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติดที่มีอาการรุนแรง คลุ้มคลั่ง และไม่สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 4,000 คน ให้เข้ารับการบำบัดรักษา และ 2) การกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5 (10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อดำเนินการสกัดกั้นการนำเข้ายาเสพติดไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5 อำเภอ และจังหวัดเชียงราย จำนวน 6 อำเภอ และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครพนม จำนวน 4 อำเภอ โดยใช้ทหารเป็นหัวหน้าของหน่วยปฏิบัติการ
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการลักลอบค้ายาเสพติดซึ่งน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผ่าน สปป.ลาว มากขึ้น โดยประเทศไทยจะได้สนับสนุนการฝึกอบรม พัฒนาองค์ความรู้ให้กับ สปป.ลาว โดยเฉพาะด้านการสืบสวนสอบสวน การสกัดกั้น การใช้เทคโนโลยีในการสืบสวน เป็นต้น ตลอดจนด้านงบประมาณ จากการเดินทางหารือกับผู้นำระดับสูงของ สปป.ลาว ที่ผ่านมา ได้รับทราบปัญหาของ สปป.ลาวจากการให้ความร่วมมือในการสกัดกั้นยาเสพติดและการจับกุมยาเสพติดได้จำนวนมาก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ คือ การจัดเก็บและทำลายยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ที่จับกุมได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาการลักลอบปลูกฝิ่นที่เพิ่มสูงขึ้น ในเรื่องนี้ ไทยจึงขอรับการสนับสนุนจาก UNODC ในการให้การช่วยเหลือกับ สปป.ลาว รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ UNODC เห็นพ้องกับนโยบายและมาตรการเร่งด่วนดังกล่าว ซึ่งเป็นแนวทางที่ UNODC ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดย UNODC เน้นถึงปัญหาความรุนแรงของยาเสพติดสังเคราะห์ และการควบคุมเคมีภัณฑ์ โดยมองแนวทางการแก้ไขปัญหา เป็น 2 มิติ คือ 1) การสกัดกั้นการรั่วไหลของสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ และ 2) การจัดการกับยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ที่จับยึดได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยยินดีแจ้งให้ทราบว่า UNODC ปัจจุบันมีโครงการรองรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยจะจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้ในประเทศในภูมิภาคด้านการสืบสวนสอบสวน การสกัดกั้น รวมถึงการตรวจสอบวิเคราะห์เส้นทางการลักลอบเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้น อีกทั้งในปีหน้าจะมีโครงการขนาดใหญ่ในเรื่องการจัดการทำลายยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ที่ยึดได้อย่างปลอดภัย โดย UNODC จะได้ให้การช่วยเหลือ สนับสนุน สปป.ลาว และกัมพูชา เป็นอันดับแรก นอกจากนี้ UNODC เสนอขอให้สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญทางการทูตและได้รับการยอมรับจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคด้วยดี ร่วมดำเนินยุทธศาสตร์กับ UNODC โดยเฉพาะการเจรจาขอความร่วมมือจากประเทศผู้ผลิตสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ให้เพิ่มการควบคุมการรั่วไหล และในฐานะที่ สำนักงาน ป.ป.ส. มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ ให้ร่วมสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพให้กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเห็นว่า การแบ่งปันความเป็นหุ้นส่วนและการช่วยเหลือระหว่างกันของประเทศในภูมิภาคด้วยกันเอง เป็นหนทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง มากกว่าการดำเนินการโดยองค์การระหว่างประเทศ/ประเทศผู้บริจาค นอกจากนี้ ลปส. ได้ประสานผ่านผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคฯ เชิญ นางฆอดะห์ วาลี (Ms. Ghada Waly) ผู้อำนวยการบริหารของ UNODC เข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมของประเทศไทยที่จะจัดขึ้นในการประชุมระดับสูง (High-level Segment) ของการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) สมัยที่ 67 ห้วงระหว่างวันที่ 14 – 15 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติกรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดย UNODC ยินดีจะประสานเชิญเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวต่อไป
ในห้วงสุดท้าย ลปส. ได้ส่งมอบตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ของกลางในคดีที่ตรวจยึดโดยด่านศุลกากรนครพนม ได้แก่ ถุงชาบรรจุภัณฑ์ไอซ์ จำนวน 3 ถุง ให้แก่ UNODC เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษารูปแบบและความหมายของสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ โดยขอให้ UNODC ส่งผลการศึกษาวิเคราะห์กลับมายัง สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อเป็นประโยชน์ในการรวบรวมและวิเคราะห์บรรจุภัณฑ์ยาเสพติดของกลางในประเทศไทย ต่อไป
—–