เลขาฯ ป.ป.ส. เปิดบ้านต้อนรับผู้ช่วยทูตฯ อินโดนีเซีย
1 min readวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานให้การต้อนรับ นายวีรก้าลีอาโน นาฮาน ผู้ช่วยทูตฝ่ายกิจการอัยการ และ พ.ต.อ. เอนดอน นูร์คาโย ผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ ประจำสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะเพื่อแนะนำตัว และแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ของเลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมทั้งหารือข้อราชการเกี่ยวกับความร่วมมือด้านยาเสพติดระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย ณ สำนักงาน ป.ป.ส
พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้กล่าวต้อนรับผู้แทนทั้งสองและแสดงความชื่นชมแนวนโยบายด้านยาเสพติดของอินโดนีเซีย ที่มีความครอบคลุมปัญหาในทุกด้าน ทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม การบำบัดรักษา และความร่วมมือระหว่างประเทศ อีกทั้ง ตนยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ยาเสพติดของไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของยาบ้า ทำให้มีจำนวนผู้มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดปัญหาความรุนแรงในสังคมเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เน้นย้ำให้สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินนโยบายเร่งด่วนเพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดให้เป็นผลภายในระยะเวลา 1 ปี ปฏิบัติการดังกล่าวจะดำเนินการในทุกมิติ โดยใช้มาตรการปลุก เปลี่ยน ปราบ คือ ปลุกชุมชนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับยาเสพติด เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ปราบปราม สกัดกั้น ยึดทรัพย์ผู้ค้า และจัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อีกทั้ง รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับ การแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติด และสกัดกั้นปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน
โดยปฏิบัติการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก นับตั้งแต่เปิดปฏิบัติการฯ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถตรวจยึดยาบ้าได้กว่า 84 ล้านเม็ด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับห้วงก่อนการเปิดปฏิบัติการ ประเทศไทยสามารถตรวจยึดยาเสพติดได้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า
นอกจากนี้ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ขอบคุณฝ่ายอินโดนีเซียที่ได้ริเริ่มโครงการคณะทำงานสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ณ ท่าเรือสากลในอาเซียน หรือ ASEAN Seaport Interdiction Task Force (ASITF) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดทางท่าเรือสากลในอาเซียน ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ยินดีแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานและข้อมูลเกี่ยวกับ
นักค้ายาเสพติดข้ามชาติที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ทั้งสองประเทศ
ด้านผู้ช่วยทูตฝ่ายกิจการอัยการและผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจได้กล่าวขอบคุณเลขาธิการ ป.ป.ส. ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และแบ่งปันข้อมูลสถานการณ์ยาเสพติดที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ยาเสพติดของอินโดนีเซียมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและกระจายไปในชุมชนเช่นเดียวกับประเทศไทย นักโทษคดียาเสพติดในเรือนจำอินโดนีเซียคิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนนักโทษทั้งหมด มีทั้งที่เป็นผู้ค้าและผู้เสพ ฝ่ายอินโดนีเซียจึงให้ความสนใจในแนวคิด “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ของไทย ที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำ นอกจากนี้ ผู้แทนฝ่ายอินโดนีเซียได้แสดงความชื่นชมและสนใจในแนวทางการดำเนินงานด้านการยึดทรัพย์สินตัดทำลายวงจรเครือข่ายนักค้ายาเสพติดของไทย รวมทั้งผลการดำเนินงานของวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotics Control College: INCC) ดังนั้น จึงอยากขอความร่วมมือสำนักงาน ป.ป.ส. ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวข้างต้น และหากประเทศไทยมีหลักสูตรการฝึกอบรมต่าง ๆ ทางฝ่ายอินโดนีเซียยินดีที่จะเข้าร่วมการฝึกอบรม
ซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ตอบรับด้วยความยินดีที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และแนวทางการดำเนินงานด้านยาเสพติดกับฝ่ายอินโดนีเซีย
โอกาสนี้ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้กล่าวเชิญผู้แทนอินโดนีเซียเข้าร่วมการศึกษาดูงานของกลุ่มเจ้าหน้าที่ประสานงานยาเสพติดและอาชญากรรมต่างประเทศประจำประเทศไทย (Foreign Anti-Narcotics and Crime หรือ FANC) ระหว่างวันพุธที่ 8 – วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 ณ จังหวัดระนอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในแต่ละพื้นที่ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ประสานงานยาเสพติดประเทศต่าง ๆ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกันต่อไป