เยาวชนศูนย์อำนวยการประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับชาติ (ศอ.ปส.ย.) เข้ารดน้ำดำหัว เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมรับฟังแนวทางการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน
1 min readวันที่ 25 เมษายน 2567 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้การต้อนรับ เยาวชน ผู้แทนจาก
ศูนย์อำนวยการประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเยาวชน (ศอ.ปส.ย.) นำโดยนายนัธวัฒน์ โสตถิพันธุ์ ประธาน ศอ.ปส.ย.ระดับชาติ ในโอกาสเข้าพบเพื่อรดน้ำดำหัว วันสงกรานต์ และรับฟังแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันยาเสพติดในเด็กและเยาวชน และการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายภาคเยาวชน ณ สำนักงาน ป.ป.ส. ดินแดง
โดยศูนย์อำนวยการประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเยาวชน (ศอ.ปส.ย.) เป็นเครือข่ายเยาวชนต่อต้านยาเสพติดในการกำกับของ สำนักงาน ป.ป.ส. เริ่มจัดตั้งตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันที่สมาชิกจำนวน 6,177 คน โดยดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายของ ศอ.ปส.ย.ระดับชาติ
เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้มอบนโยบายในการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายเยาวชน ศอ.ปส.ย. โดยกล่าวว่าเครือข่ายเยาวชน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน สามารถขยายการดำเนินงานไปยังชุมชน เพื่อเป็นการปลุกพลังชุมชนในการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังได้เสนอแนะในการขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายเยาวชนอื่นๆ เช่น สภาเด็ก สภานักเรียน เพื่อให้การขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ด้านนายนัธวัฒน์ โสตถิพันธุ์ ประธาน ศอ.ปส.ย.ระดับชาติ กล่าวว่า เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ศอ.ปส.ย. ได้มีโครงการป้องกันยาเสพติดในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ (Youth Innovators) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนออกแบบนวัตกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับบาเสพติด และในปี 2567 นี้ จะสนับสนุนการดำเนินการโครงการประกวด Tiktok เพื่อสื่อสารในประเด็นหลักคือ “ยาบ้า เป็นปัญหายาเสพติดของประเทศไทย” ของ สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากเยาวชน ตั้งแต่ระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย และอาชีวะ และเห็นด้วยกับการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างแรงจูงใจเพื่อให้ตระหนักถึงพิษภัยยาเสพติด
เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ขอบคุณในความตั้งใจของกลุ่ม ศอ.ปส.ย. และกล่าวว่า ปัญหายาเสพติดของประเทศไทย คือ ยาบ้า ซึ่งภาครัฐได้กำหนดปฏิบัติการ Quick Win คือการสกัดกั้นชายแดน และการนำผู้ป่วยจิตเวชเข้าสู่กระบวนการบำบัด เพื่อลดความรุนแรง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น แต่การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เยาวชน ว่าไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อตัวเขา เพื่อครอบครัวของเขาเอง เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ยั่งยืน เราจึงพยายามเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชนได้เสริมสร้างและปลูกฝังภูมิคุ้มกันต่อยาเสพติด เหมือนกับที่เยาวชนญี่ปุ่นรู้ว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวต้องทำอย่างไร
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวในตอนท้ายว่า ปัญหายาเสพติด ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นปัญหาของพวกเราทุกคน วันนี้เป็นสิ่งดีที่ได้พบกับกลุ่มเยาวชนที่มีความตั้งใจ และต้องการสร้างสิ่งที่ดีร่วมกัน คือการร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด สุดท้ายอยากฝากให้เป็นพลังในการสื่อสาร กับ เพื่อน พี่ น้อง ต่อไป เพราะสภาพแวดล้อมคนรอบข้าง โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพราะสิ่งที่ยาบ้ากลัวที่สุดไม่ใช่อาวุธ แต่เป็นความรักจากครอบครัว