เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลก (หนึ่งเดียวในโลก)
1 min readปรากฎหลักฐานชัดเจนว่าถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงอยุธยา หรือต้นรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. ๒๐๙๑) โดยมีชื่อเรียกว่า สุวรรณหงส์ ด้วยความสำคัญของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
จึงทำให้ องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร ให้ความสนใจส่งผู้แทนมาพิจารณามอบ รางวัลเรือโลก ให้กับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๓๕ คณะกรรมการองค์การ “World Ship Trust” เช่น นายอีเวนเซาท์บี-เทลยัวร์ ประธานองค์การเรือโลก เป็นต้น ได้เดินทางมายังประเทศไทยและเข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๙ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ (เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก ประจำปี ๒๕๓๕ / The World Ship Trust Maritime Heritage Award “Suphannahong Royal Barge”) จากนั้นรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเป็นกรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาเรือพระที่นั่ง
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยอยุธยาต้นรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ราว พ.ศ. ๒๐๙๑) ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะเรียกว่า สุวรรณหงส์ ดังปรากฎในบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ฯ ที่ว่า “…สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม…”
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ ปรากฎชื่อเป็น เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ คำว่า “สุวรรณหงส์” แปลว่า หงส์ทอง ตามคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ -ฮินดู หงส์เป็นพาหนะของเทพ เช่น พระพรหม ส่วนในศาสนาพุทธ หงส์เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณบริสุทธิ์ หรือจิตอันเที่ยงแท้ดังปรากฏในชาดกที่กล่าวถึงพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นหงส์
ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ ปรากฏชื่อเป็น เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ได้ชำรุดทรุดโทรมเรื่อยมา และได้รับการซ่อมแซมมาหลายครั้ง รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน เพราะเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ลำเดิมผุพังเกินกว่าที่จะซ่อมได้ แต่มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๕๔) และเปลี่ยนชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์มาเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และได้มีการประกอบพิธีลงน้ำ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๔
หัวเรือพระที่นั่งนี้มีโขนเรือรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาว คือ ส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียก ราชบัลลังก์กัญญาสำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง เรือมีความยาว ๔๖.๑๕ เมตร กว้าง ๓.๑๗ เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ ๙๔ เซนติเมตร กินน้ำลึก ๔๑ เซนติเมตร น้ำหนัก ๑๕ ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วยฝีพาย ๕๐ คน นายเรือ ๒ คน นายท้าย ๒ คน คนถือธงท้าย ๑ คน พลสัญญาณ ๑ คน คนถือฉัตร ๗ คน คนขานยาว ๑ คน คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือโดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่นๆ
ขอขอบคุณ : พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี , Aksorn Pichai