รมว.ยธ. รุกหนัก เร่งรัด 30 วัน โค้งสุดท้าย แก้ปัญหายาเสพติดให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ ตั้งเป้า “ธวัชบุรีโมเดล” ขยายผลใช้ทั่วประเทศ
1 min readวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 3/2567 โดยมี นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เรือเอก สาโรจน์ คมคาย รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวทัศนีย์ พิศาลรัตนคุณ ผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลตำรวจตรี พลัฏฐ์ วิเศษสิงห์ รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นายศิริสุข ยืนหาญ
รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชสีห์ อาคารศาลากลางว่าการกระทรวงมหาดไทย
พันตำรวจเอก ทวี ฯ กล่าวในช่วงแรกว่า เดือนสิงหาคมนี้ ถือเป็นเดือนสุดท้ายตามปฏิทินปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (มิถุนายน-สิงหาคม 2567) ในพื้นที่ 25 จังหวัดเร่งด่วน ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายของปฏิบัติการฯ ที่กำหนดไว้ โดยขอให้ทุกหน่วยงานอย่ายึดติดกับการทำงานที่บรรลุเป้าหมายเท่านั้น แต่ขอให้มุ่งที่ผลลัพธ์เป็นสำคัญ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องมีความเชื่อมั่นและความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พร้อมกล่าวถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความชื่นชมผลการทำงานของทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหายาเสพติดใน 25 จังหวัดเร่งด่วน และให้มีการขยายผลการทำงานให้ครบ 77 จังหวัดต่อไป โดยให้มีการสำรวจหมู่บ้าน/ชุมชน (Re X-ray)
เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมาย
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และนำรูปแบบ “ธวัชบุรีโมเดล” ของจังหวัดร้อยเอ็ด มาเป็นต้นแบบในการทำงาน ประยุกต์ใช้ตามบริบทของสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่
ผลการดำเนินงานตามปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ในพื้นที่ 25 จังหวัดเร่งด่วน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 4 สิงหาคม 2567 ดังนี้ ด้านการปราบปราม มีผลการดำเนินงานบรรลุผลในภาพรวม การดำเนินคดีผู้กระทำความผิดฐานความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดได้ 13,785 คดี จังหวัดที่มีผลงานโดดเด่นที่น่าได้รับการชมเชย ได้แก่ สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นครศรีธรรมราช การดำเนินคดีข้อหาสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือได้ 451 คดี จังหวัดที่มีผลงานโดดเด่นที่น่าได้รับการชมเชย ได้แก่ สมุทรปราการ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และการตรวจสอบทรัพย์สินเบื้องต้นได้ 899.91 ล้านบาท จังหวัดที่มีผลงานโดดเด่นที่น่าได้รับการชมเชย ได้แก่ นครศรีธรรมราช ชลบุรี ร้อยเอ็ด เจ้าหน้าที่ดำเนินการจับกุมกลุ่มเครือข่ายการค้ายาเสพติดรายสำคัญไปแล้ว 214 เครือข่าย ด้านการบำบัดรักษา การนําผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบําบัด ที่มีการดำเนินการในรูปแบบ CBTx มากกว่าจำนวน 8,557 คน โดยมีชุมชนที่ดำเนินการ CBTx อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว 2,346 ชุมชน เน้นที่การบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยไม่หวนกลับไปเสพยาอีก โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลมีผู้เข้าร่วมบำบัดของ สตช. สามารถนำคนเข้าบำบัดได้จำนวน 12,429 คน (คิดเป็น 19.54 คน/สถานี) มีความร่วมมือของหน่วยงานในการนำผู้เสพที่มีอาการทางจิตเข้าสู่กระบวนการบำบัดกว่า 16,652 คน มีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 2,711 แห่ง ซึ่งให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 1,861 คน และด้านการป้องกัน ได้ดำเนินการจัดระเบียบสังคมในสถานบันเทิง สถานบริการได้ทั้งหมด 991 แห่ง สถานประกอบการคล้ายสถานบันเทิง 3,370 แห่ง รวมทั้งรอบสถานศึกษา 1,253 แห่ง โดยมีการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งหมด 12,626 แห่ง ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติรับทราบผลการดำเนินงานดังกล่าว และเห็นชอบแนวทางการสำรวจหมู่บ้าน/ชุมชน (Re X-ray) เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมาย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามแนวทาง “ธวัชบุรีโมเดล”
พันตำรวจเอก ทวี ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงสุดท้ายว่า ความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการให้เห็นผลที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมครบทุกมิติ อาทิ การสกัดกั้น การป้องกัน การปราบปราม และการบำบัดผู้เสพยาเสพติด โดยเฉพาะมิติด้านการศึกษา ให้การศึกษา ฝึกอาชีพ เงินทุน แก่ผู้ผ่านการบำบัดรักษาให้มากขึ้น เพื่อเมื่อออกมาแล้วจะไม่กลับไปใช้ยาเสพติดอีกต่อไป
การทำงานด้านยาเสพติดมีความเสี่ยงในทุกรอบด้าน ขอให้เจ้าหน้าที่ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการปราบปรามนักค้ายาเสพติด จะต้องยึดหลักกฏหมายเป็นสำคัญ