สำนักงาน ป.ป.ส. เสริมเขี้ยวเล็บ หน่วยสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ในพื้นที่ชายแดนเหนือ
1 min readสำนักงาน ป.ป.ส. เสริมเขี้ยวเล็บ หน่วยสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ในพื้นที่ชายแดนเหนือ
วันนี้ (21 ตุลาคม 2567) ณ โรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม โครงการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด รุ่นที่ 1 โดยมี พล.ท. กิตติพงศ์ ชื่นใจชน ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ (ผบ.นบ.ยส.35) และนายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์การจัดโครงการ เพื่อเสริมองค์ความรู้ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ในพื้นที่ชายแดน ในด้านสถานการณ์ลักลอบนำเข้า ขั้นตอนการตรวจสอบ วิธีปฏิบัติเมื่อพบสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ต้องสงสัย ตลอดจนส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลการข่าวระหว่างกัน ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคเหนือ (นบ.ยส.35) จำนวน 40 นาย
ทั้งนี้ การจัดโครงการดังกล่าว สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่แหล่งผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำยังคงมีศักยภาพการผลิตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มผู้ผลิตสามารถจัดหาสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด และมีการนำสารเคมีชนิดใหม่มาใช้การผลิตยาเสพติดมากขึ้น โดยสถานการณ์ในประเทศไทยพบปัญหาการนำผ่านสารเคมีต้องสงสัยว่าจะถูกนำไปผลิตยาเสพติด โดยปีพ.ศ. 2566 มีการตรวจยึดสารเคมีหลายชนิดทั้งที่ถูกควบคุม และไม่ถูกควบคุม รวมถึงการตรวจยึดคาเฟอีน
ล็อตใหญ่ในรอบ 20 ปี กว่า 3,000 กิโลกรัม ซึ่งการข่าวเชื่อว่า เตรียมลำเลียงเข้าแหล่งผลิตเพื่อผลิตยาบ้า ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567 จึงมีมติให้เผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีองค์ความรู้สามารถสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนำไปสู่การลดทอนศักยภาพการผลิตยาเสพติดของกลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนลงได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ สร้างสังคมที่ปลอดภัยให้แก่ประชาชนไทย