สำนักงาน ป.ป.ส. ผลักดันและเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ
1 min readวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.00 น. ตามเวลาประเทศไทย พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. มอบหมายให้ นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส. จำนวน 3 คน เข้าร่วมการประชุมระหว่างสมัยของการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs : CND) สมัยที่ 67 ด้วยตนเอง ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติเวียนนา กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมในรูปแบบการประชุมทางไกล
การประชุมระหว่างสมัยฯ มีนายฟิลเบิร์ต จอห์นสัน (H.E. Philbert Johnson) เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรกานา ประจำองค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา เป็นประธานการประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนความคืบหน้าในการจัดการกับประเด็นความท้าทายตามที่ระบุไว้ในปฏิญญารัฐมนตรี ปี ค.ศ. 2019 (2019 Ministerial Declaration) และประเด็นอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากความท้าทายดังกล่าว
ในวันแรกของการประชุม เริ่มต้นด้วยการอภิปรายในประเด็นความท้าทาย เรื่อง ประเภทและตลาดยาเสพติดที่ขยายตัว โดยนายอภิกิตฯ ร่วมอภิปรายในฐานะผู้เชี่ยวชาญของกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้เน้นย้ำปัญหา
ยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก และได้เรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกสนับสนุนและเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเพื่อไม่ให้แพร่ระบาดไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม โดยเน้นย้ำสถานการณ์ในปี 2566 ที่มีการยึดเมทแอมเฟตามีน ทั้งยาบ้าและไอซ์ มากถึง 169 ตัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ในขณะที่ราคาลดลงและความบริสุทธิ์คงที่ถึงเพิ่มขึ้น รวมถึงสถานการณ์ในประเทศไทยในห้วงระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 สามารถยึดยาไอซ์มากถึง 9 ตัน ยาบ้า 865 ล้านเม็ด อีกทั้งยังพบการนำสารที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมตามอนุสัญญาควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (non-controlled chemical) มาใช้ในการลักลอบผลิตยาเสพติดสังเคราะห์มากขึ้นด้วย
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้เปิดปฏิบัติการเร่งด่วนลดความปัญรุนแรงของปัญหายาเสพติดหรือ Quick Win ทั้งด้านการแก้ไขปัญหาจิตเวช และสกัดกั้นการนำเข้ายาเสพติดชายแดน โดยในการแก้ไขปัญหาจิตเวช สามารถนำผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดได้มากกว่า 30,000 ราย และในการสกัดกั้นชายแดน ได้จัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) และหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดยภาคเหนือ (นบ.ยส. 35) สกัดกั้นการลักลอบขนยาเสพติดในบริเวณชายแดนภาคเหนือ ทำให้สามารถสกัดกั้นการลักลอบยาเสพติดได้มากขึ้น ในตอนท้ายได้กล่าวย้ำโดยเรียกร้องให้ประชาคมโลกเข้ามาช่วยสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเพิ่มมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ การประชุมระหว่างสมัย ครั้งที่ 3 ของการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) สมัยที่ 67 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันอังคารที่ 12 – วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติกรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย และผ่านระบบการประชุมทางไกล