ป.ป.ส. บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความท้าทายในการต่อสู้กับยาเสพติดสังเคราะห์ (Challenges in the Fight Against Synthetic Drugs)” ในการประชุมวิชาการนานาชาติ
1 min readเมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2567 พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความท้าทายในการต่อสู่กับยาเสพติดสังเคราะห์ (Challenges in the Fight Against Synthetic Drugs)” ในเวทีการประชุมวิชาการนานาชาติ “จากการพัฒนาทางเลือกมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน : เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาทางเลือก เพื่อรับมือการท้าทายทุกประเด็นของโลก” (The Royal Project International Conference : From Alternative Development to Sustainable Development Goals : Empowering Alternative Development to Address Global Challenges) ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินงานครบ 55 ปี ของมูลนิธิโครงการหลวง รวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ และหน่วยงานระหว่างประเทศ รวมทั้งจากหน่วยงานการพัฒนาทางเลือกบนพื้นที่สูงต่าง ๆ ภายในประเทศ รวมจำนวน 450 คน
พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้บรรยายพิเศษโดยกล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาดยาเสพติดของประเทศไทย ซึ่งยาบ้าเป็นปัญหายาเสพติดของไทยรวมถึงในภูมิภาค โดยข้อมูลจากรายงาน Synthetic Drugs in East and Southeast Asia 2024 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC รายงานว่าในปี พ.ศ. 2566 มีการจับกุมและตรวจยึดยาเสพติดทั้งยาบ้าและไอซ์ ได้มากถึง 190 ตัน ซึ่งนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงขึ้นหลายเท่าตัวจากห้วง 10 ปีก่อนหน้า ที่จับยึดได้เพียง 23 ตัน ทั้งนี้ มีแหล่งผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยที่มีชายแดนติดกับแหล่งผลิตได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด ยังคงสามารถลำเลียงเข้าสู่แหล่งผลิตในสามเหลี่ยมทองคำได้อย่างต่อเนื่อง และมีแหล่งที่มาจากหลายประเทศ
กรอบทิศทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดประเทศไทย ได้นำกรอบแนวคิดจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ หรือ UNGASS 2016 และประมวลกฎหมายยาเสพติด มาเป็นกรอบแนวคิดหลักในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้แนวคิดทางสาธารณสุขนำเป็นหลัก รวมถึงการดำเนินกระบวนการยุติธรรมบนฐานแนวคิดสิทธิมนุษยชน การฟื้นฟูทุนมนุษย์ การลดการตีตราทางสังคม การมุ่งปราบปรามทำลายเครือข่ายรายสำคัญ และการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกมิติ
รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที ซึ่งในปีงบประมาณ 2568 สำนักงาน ป.ป.ส. จะดำเนินการขยายผลและดำเนินมาตรการใน 25 จังหวัดเร่งด่วน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีจุดเน้นการปฏิบัติ 5 จุดเน้น ได้แก่ การนำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม การปราบปรามนักค้ายาเสพติด ด้วยมาตรการสมคบ สนับสนุนช่วยเหลือ และใช้มาตรการทางทรัพย์สิน เพื่อทำลายโครงสร้างการค้ายาเสพติด การขจัดปัจจัยเสี่ยง/พื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด ตลอดจนแก้ไขปัญหากลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การขยายการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการขับเคลื่อนกลไกในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในจังหวัด
และในการนี้ พล.ต.อ.ชวลิต ยอดมณี อดีตเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “การสร้างคุณค่าในวันนี้จากประสบการณ์ในอดีต : Shaping Today’s Value from Past Experiences” โดยได้กล่าวถึง การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการปลูกพืชฝิ่นตามแนวทางการพัฒนาทางเลือกร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงในนามของกรมตำรวจ โดยในปี 2514 ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือกับ UNDND เพื่อดำเนินโครงการนำร่องการปลูกพืชทดแทนพืชเสพติดและการพัฒนาชุมชน ในพื้นที่ช่างเคี่ยน และดอยปุย (สวนสองแสน) ซึ่งได้ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สูงปลูกผัก ผลไม้ กาแฟ และถั่ว แทนพืชเสพติด ทำให้สามารถลดพื้นที่การปลูกฝิ่นและสร้างรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจ และเมื่อสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2519 ก็ได้สืบสานการดำเนินงานพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกพืชฝิ่นกับมูลนิธิโครงการหลวงมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการบูรณาการร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานระหว่างประเทศ ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ลดการลักลอบปลูกฝิ่น และเกิดการพัฒนาบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืน