ป.ป.ส. นำชุดอินทรีย์ 19 ผนึกกำลังหน่วยร่วม บุกแหล่งพักยาเสพติด จ.ราชบุรี ยึดไอซ์เกือบตัน เตรียมส่งต่างประเทศ
1 min readเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส.พร้อมด้วยพล.ร.ท. สิทธิชัย ต่างใจ รองเสนาธิการทหารเรือนายปฤณ เมฆานันท์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. น.อ.อนันท์ สุราวรรณ์ รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ พ.ต.อ.นพสิทธิ์มิตรภักดี รองผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1กองบัญชาการตำรวจปราบปราม
ยาเสพติด (บช.ปส.) และ พ.อ.มารุต เปล่งขำ ผอ.กอง 12 สำนักปฏิบัติการข่าว ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ร่วมแถลงข่าวการจับกุมไอซ์ 960 กิโลกรัม พร้อมผู้ต้องหา 7 คน ที่บ้านหลังหนึ่งในจังหวัดราชบุรี โดยเชื่อว่ายาเสพติดดังกล่าวถูกพักเก็บเพื่อเตรียมการขนส่งไปยังพื้นที่ภาคใต้เพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่สาม
นายวิชัย ไชยมงคล กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากการขยายผลคดีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ที่สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจยึดไอซ์ 1,200 กก. ที่บ้านพัก ในพื้นที่ อ.นาหม่อม จ.สงขลา ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวมีพฤติการณ์ลักลอบลำเลียงยาเสพติดมาจากพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ
เตรียมส่งต่อไปในพื้นที่ จชต.ก่อนจะลักลอบลำเลียงเข้าประเทศมาเลเซีย ซึ่งตนได้กำชับให้มีการขยายผล และได้สั่งการให้นายปฤณ เมฆานันท์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. นำโดยชุดปฏิบัติการพิเศษอินทรีย์ 19 บูรณาการความร่วมมือกับ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด,หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ(SEAL),กองบัญชาการกองทัพไทย,ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.)และชุดปฏิบัติการพิเศษ กองทัพเรือสืบสวนติดตามพฤติการณ์ขบวนการค้ายาเสพติดดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
จนกระทั่งวันที่ 27 มิถุนายน 2566 เจ้าหน้าที่พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ลำเลียงยาเสพติด ในพื้นที่ ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งเชื่อว่าใช้เป็นสถานที่เก็บพักยาเสพติด เจ้าหน้าที่จึงนำกำลังเข้าตรวจค้น โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหา 7 คน พร้อมไอซ์960 กก. (บรรจุในกระสอบ 24 ใบ ภายในบรรจุไอซ์กระสอบละ 40 กก./ถุง) ภายในบ้านพักหลังดังกล่าวในเบื้องต้นเชื่อว่าขบวนการค้ายาเสพติดเตรียมทยอยนำยาเสพติดออกจากพื้นที่เก็บพัก เพื่อลำเลียงผ่านพื้นที่ภาคใต้ไปยังปลายทางประเทศที่สาม
ในการนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. จะสืบสวนขยายผลเกี่ยวกับเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติ ที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการลักลอบลำเลียงยาเสพติดไปยังปลายทางประเทศที่สาม โดยจะรวบรวมพยานหลักฐาน ดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป รวมทั้งจะประสานความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกับสำนักงานปราบปรามยาเสพติด สหรัฐอเมริกา (Drug Enforcement Administration : DEA) สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย (Narcotics Crime Investigation Department : NCID)
เจ้าหน้าที่ตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย (Australian Federal Police : AFP) และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายนิวซีแลนด์ที่คาดว่าเป็นประเทศปลายทางของยาเสพติด เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการสืบสวนปราบปรามอย่างเป็นรูปธรรม