ตำรวจไซเบอร์รวบเพิ่มเครือข่ายแอป “ไทยเดลี่” ตุ๋นเหยื่ออ่านข่าวออนไลน์ เงินหายเกลี้ยงบัญชี 4 ล้าน
1 min readตามนโยบาย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายใน การเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช. ในฐานะ
ผอ.ศปอส.ตร. ได้ขับเคลื่อนนโยบายผ่าน พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้รับผิดชอบควบคุมสั่งการ บช.สอท. และ พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศปอส.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. สืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพื่อสามารถติดตามทรัพย์สินที่หลอกลวงไปกลับมาเยียวยาความเดือดร้อนของผู้เสียหาย จนนำมาสู่ปฏิบัติการดังกล่าว
สืบเนื่องจาก เมื่อ 17 พ.ค. 2566 ได้มีกลุ่มผู้เสียหาย จำนวน 6 คน รวมตัวเข้าแจ้งความต่อตำรวจไซเบอร์ โดยเมื่อกลางปี 2564 กลุ่มผู้เสียหายได้ถูกหลอกลวงผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยเดลี่ ” ซึ่งเป็นแอปสำหรับอ่านข่าวแต่มีการชักชวนลงทุนทำภารกิจออนไลน์ สุดท้ายไม่สามารถถอนเงินที่โอนไปคืนได้
โดยมิจฉาชีพมักยิงโฆษณาให้โหลดแอปดังกล่าวตามโซเชียล ซึ่งมักขึ้นป๊อบอัป (Pop-Up) กับวิดีโอที่ดูผ่าน YouTube เพจหรือกลุ่มประกาศหางานใน facebook หรือ สุ่มส่ง SMS หรือ ลิงก์ทางไลน์ โดยล่อเหยื่อด้วยการเชิญชวนทำงานด้วยการอ่านข่าวออนไลน์ อ้างทำงานง่ายให้ผลตอบแทนดี
สำหรับกรณีนี้ กลุ่มผู้เสียหายได้พบโฆษณาแล้วโหลดแอปดังกล่าว เมื่อเข้าแอปแล้วจะปรากฎลิงก์ให้อ่านข่าวปกติ แล้วปรากฏข้อความเพื่อดึงดูดความสนใจในการหารายได้ โดยให้ผู้เสียหายเข้าไลน์กลุ่ม Open Chat โดยสมาชิกในกลุ่มนั้นทั้งหมดเป็นหน้าม้า จะพยายามสนทนา ล่อลวง ใช้อุบายต่างๆ โน้มน้าวใจ มีการรีวิวผลตอบแทน รวมทั้งมีการทำคลิปวีดีโอแนะนำวิธีการทำงาน พร้อมทั้งมีการอ้างความน่าเชื่อถือว่าบริษัททำสัญญากับบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของโลก เพียงสำรองเงินเพื่อเข้าไปอ่านข่าว หรือดูโฆษณาของบริษัทชื่อดังต่างๆ เช่น อเมซอน ลาซาด้า ซอปปี้ ก็จะได้เงินกลับคืนในอัตรา 10-20 % ภายใน 10 นาที
เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อมิจฉาชีพจะให้เริ่มโอนเงินในจำนวนที่ต่ำก่อน และให้ทดลองถอนเงินจากระบบ ซึ่งพบว่าประมาณ 3- 4 ครั้งแรก สามารถถอนได้จริง เช่น ลงทุน 1,000 บาท ได้กำไร 1,200 บาท ต่อมา กลุ่มผู้เสียหาย
หลงเชื่อและเริ่มลงทุนในอัตราที่เพิ่มมากขึ้น มีการกำหนดกเกณฑ์ในการโอนเงินเพิ่มขึ้น เช่น ต้องโอนเงินให้ครบตามจำนวนแพคเกจ เช่น แพ็คเกจ ที่ 1 จำนวน 10,000 บาท แพ็คเกจที่ 2 จำนวน 3,000 บาท แพ็คเกจที่3 จำนวน 66,000 บาท หากทำไม่ครบ จะไม่สามารถถอนเงินทั้งหมดคืนได้ ซึ่งยอดความเสียหายที่กลุ่มผู้เสียหายโดนหลอกลวงไปทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 3,869,188 บาท
ต่อมา พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 ส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนเพื่อเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องได้หลายราย
วันที่ 2 ม.ค.68 ประมาณ 12.00 น. พ.ต.อ.บัญชา ศรีสุข รอง ผบก.สอท.5, พ.ต.อ.อุกฤช ศรีนิติวรวงศ์
ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.5, พ.ต.ท.ศักดิ์สิทธิ์ ชูบุญเรือง รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าว
บก.สอท.5 สั่งการให้ พ.ต.ต.กิตติเดช สมวงศ์ สว.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.5 พร้อมชุดสืบสวน นำกำลังเข้าจับกุม 1 ในเครือข่ายผู้ร่วมกระทำผิด โดยได้จับตัวนายจักรินทร์ อายุ 26 ปี ชาว จ.เพชรบูรณ์ ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมฯ” จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
จากการตรวจสอบแพลตฟอร์มหลอกลวงดังกล่าว พบว่าได้ยิงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กจนมีผู้ติดตามหลักแสน และสามารถดาวน์โหลดแอปดังกล่าวได้ทั้งระบบ iOS และ Android ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขยายผลหาตัวผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาดำเนินคดี และประสานขอปิดกั้นแพลตฟอร์มดังกล่าวทุกช่องทางต่อไป กรณีผู้เสียหายจากแพลตฟอร์มดังกล่าว สามารถรวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจ หรือ แจ้งความผ่านระบบรับแจ้งออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.go.th เท่านั้น ปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน AOC 1441