เลขา ป.ป.ส. นำคณะผู้แทนไทยเข้าประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส 7 ฝ่าย ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
1 min readเมื่อวันอังคารที่ 5 กันยายน 2566 นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค ร่วมกับประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม และ 1 องค์กรระหว่างประเทศ คือ สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยประเทศไทยได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่ายว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค เมื่อ พ.ศ. 2536 ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมเพื่อทบทวนสถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาค และวางแผนร่วมมือแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคอย่างทันสถานการณ์ โดยจะแบ่งการประชุมออกเป็น 2 ระดับ คือ การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นปีเว้นปี โดยการประชุมครั้งนี้ ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพและจะมีการประชุมในทั้ง 2 ระดับ ซึ่งการประชุมในระดับรัฐมนตรีจะมีขึ้นในวันที่ 6 กันยายน 2566 (วันพรุ่งนี้) สำหรับการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ฝ่ายไทยได้รายงานภาพรวมและสถานะความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการในอนุภูมิภาคเพื่อการควบคุมยาเสพติด ฉบับที่ 11 ในห้วงระหว่างเดือนกันยายน 2564 – กันยายน 2566 โดยได้นำเสนอความสำเร็จของการดำเนินงานใน 4 ด้าน คือ โครงการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนระหว่างประเทศเพื่อการป้องกันยาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง การให้บริการคลินิกจิตสังคมบำบัดในระบบศาลสำหรับด้านยาเสพติดและสุขภาพ การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วม 1511 และมาตรการการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะสารโซเดียมไซยาไนด์ เบนซิลไซยาไนด์ และเบนซิลคลอไรด์ รวมถึงผลการจับยึดสารอะนิลีนสำหรับด้านความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติด
ฝ่ายไทย ยังได้รายงานถึงพัฒนาการและผลลัพธ์จากการบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ การสนับสนุนโครงการและการดำเนินการพัฒนาทางเลือกในเมียนมาที่มีผลตอบรับที่ดี โดยประเทศไทยถือเป็นแหล่งเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านการพัฒนาทางเลือกให้กับนานาประเทศ ซึ่งบทบาทของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาค และระดับโลก ด้านนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมถึงแนวทางความร่วมมือในอนาคตซึ่งประเทศไทยได้เรียกร้องให้ทุกประเทศสมาชิกและ UNODC ให้ความสำคัญกับการติดตามและป้องกันการลักลอบใช้สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจับยึดสารเคมีต้องสงสัยอย่างโซเดียมไซยาไนด์ และอะนิลีนอย่าง การให้ความช่วยเหลือจับกุมผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับ การให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนการจัดการและทำลายยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์อย่างปลอดภัย ให้กับประเทศในภูมิภาค การให้ความสำคัญกับการป้องกันยาเสพติดในเด็กและเยาวชน และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติดอย่างปฏิบัติการ 1511 อย่างต่อเนื่อง
ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาร่างเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 12 ร่างปฏิญญากรุงปักกิ่ง และร่างข้อริเริ่มของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้เน้นย้ำความร่วมมือระหว่างกันในความท้าทายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสารเสพติดชนิดสังเคราะห์ การควบคุมการลักลอบค้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมระหว่างประเทศ อาชญากรรมทางไซเบอร์ และการยกระดับความร่วมมืออย่างรอบด้านในทุกมาตรการ ทั้งนี้ เอกสารทั้งสามฉบับจะนำเข้าสู่การพิจารณารับรองในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 14 ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ในวันพรุ่งนี้ (6 กันยายน ) ต่อไป