ป.ป.ส. ร่วมหารือปัญหายาเสพติดในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (HONLAP) ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
1 min readเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นำคณะผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส. เข้าร่วมการประชุมหัวหน้าหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Meeting of Heads of National Drug Law Enforcement Agencies, Asia and the Pacific: HONLAP) ครั้งที่ 45 ซึ่งจัดขึ้นโดยสาธารณรัฐอินโดนีเซียและสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ระหว่างวันที่ 24 – 27 ตุลาคม 2566 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมี Mr. Agus Irianto รองหัวหน้าด้านกฎหมายและความร่วมมือ จากคณะกรรมการยาเสพติดแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (National Narcotics Board of the Republic of Indonesia: BNN) เป็นประธานการประชุมฯ ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ในห้วงพิธีเปิดการประชุมฯ นางฆอดะห์ วาลี (H.E. Ms. Ghada Waly) ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) และเอกอัครราชทูตมิเกล กามิโล รูอิซ บลังโก (H.E. Mr. Miguel Camilo Ruiz Blanco) ผู้แทนถาวรโคลอมเบียประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs: CND) สมัยที่ 66 กล่าวเปิดการประชุมฯ ผ่าน Video Message โดยเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหายาเสพติดโลกทั้งในมิติของการลดอุปทานและอุปสงค์ยาเสพติดอย่างสมดุล ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในระดับอนุภูมิภาค ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ เพื่อจัดการกับประเด็นปัญหาความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
จากนั้นที่ประชุมหารือถึงแนวโน้มสถานการณ์การลักลอบค้ายาเสพติดในภูมิภาค และความร่วมมือในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคในการระบุและต่อสู้ปัญหายาเสพติดโลก โดยผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมนำเสนอสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทย และความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และปฏิบัติการ TaskForce Storm ร่วมกับออสเตรเลีย สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทยพบว่ากลุ่มผู้ผลิตจะเข้าถึงสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ได้มากขึ้น และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติจะขยายตัวมากขึ้น ประเทศไทยยังคงถูกใช้เป็นทางผ่านในการลำเลียงยาเสพติด และยังคงมีความต้องการใช้ยาเสพติดสูงในประเทศ
ในวาระนี้ ผู้แทนจากประเทศอื่น ๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน อิหร่าน นิวซีแลนด์ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ปากีสถาน และเวียดนาม ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ยาเสพติดและความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยพบว่าทุกประเทศล้วนเผชิญกับปัญหายาเสพติดที่มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการผลิตและการลักลอบค้ายาเสพติด และปัญหายาเสพติดจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเนื่องจากกลุ่มองค์กรอาชญากรรมจะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาค โดยมักจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อขยายตลาดยาเสพติด อีกทั้งยังก่ออาชญากรรมรูปแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การฟอกเงิน ที่ประชุมตระหนักถึงภัยคุกคามจากปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นในภูมิภาค และเห็นพ้องกันที่จะพัฒนาความร่วมมือในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติดร่วมกัน เช่น การแลกเปลี่ยนการข่าว การปฏิบัติการร่วม และการฝึกอบรมในวาระการดำเนินการตามพันธกรณีระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้กล่าวรายงานต่อที่ประชุมฯ ว่าประเทศไทยได้ยึดมั่นตามพันธกรณีอนุสัญญาควบคุมยาเสพติด ซึ่งถือเป็นเสาหลักของระบบควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ.2564) ซึ่งสนับสนุนแนวทางสาธารณสุขนำ (health-based approach) ที่มองว่าผู้เสพคือผู้ป่วย ตลอดจนการใช้มาตรการยึดทรัพย์สินตามมูลค่าในการปราบปรามนักค้ายาเสพติดและเครือข่ายยาเสพติด ซึ่งมีหลักการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาควบคุมยาเสพติดของสหประชาชาติ และเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยพิเศษ ปี ค.ศ. 2016 (2016 UNGASS outcome document)
นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร กล่าวอีกว่า ตามแนวนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปัญหายาเสพติดถือเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติที่มีความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้สามเหลี่ยมทองคำ จึงกลายเป็นตลาดยาเสพติดและประเทศทางผ่าน โดยเฉพาะยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการต่อต้านปัญหายาเสพติดและมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศและองค์การระหว่างประเทศในการระบุปัญหายาเสพติดในระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ ประเทศไทยยินดีที่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการพัฒนาทางเลือกให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเพาะปลูกพืชเสพติดและประเทศที่มีความสนใจทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก (United Nations Guiding Principles on Alternative Development: UNGPs on AD)
ในการประชุมครั้งนี้ จะมีการพิจารณาหัวข้อต่าง ๆ โดยคณะทำงาน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในภูมิภาค ประเทศไทยได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงและนำเสนอต่อที่ประชุมในแต่ละหัวข้อ อาทิ ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศเพื่อลดการเพาะปลูกพืชเสพติดและการผลิตยาเสพติด ซึ่งรวมถึงการพัฒนาทางเลือก การสืบสวนทางการเงินในคดีการลักลอบค้ายาเสพติด และบทบาทของคริปโทเคอร์เรนซีในการลักลอบค้ายาเสพติดและการฟอกเงิน มาตรการตอบโต้การลักลอบผลิตยาเสพติดและการโยกย้ายสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ และความเชื่อมโยงระหว่างยาเสพติดและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ในวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566 คณะผู้แทนไทยจะร่วมศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด Bangli Regional Hospital ซึ่งเป็นความร่วมมือของฝ่ายบริหารเมืองบาหลีและคณะกรรมการยาเสพติดแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (the National Narcotics Board of the Republic of Indonesia: BNN) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านการบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย