พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ลงพื้นที่ปัตตานีและประจวบคีรีขันธ์ พบปะพี่น้องชาวประมง รับฟังความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการออกใบอนุญาตประมงพื้นบ้าน
1 min readด้วยคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/ประธานกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้มีแนวคิดที่จะจัดให้มีการขอใบอนุญาตในการทำประมงพื้นบ้าน เพื่อเป็นการเพิ่มการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของพี่น้องชาวประมงในจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล รวมทั้งเป็นการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. /กรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ
ให้มีการจัดการประชุมร่วมกับผู้แทนชาวประมงพื้นบ้าน ให้ทั่วถึงมากที่สุด เพื่อให้พี่น้องชาวประมงทั่วประเทศได้รับทราบถึงประโยชน์ของการมีใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน และสามารถปฏิบัติตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดได้ รวมทั้งรับฟังความเห็นเพื่อพัฒนาแนวทางบังคับใช้ให้เกิดผลกระทบน้อยแต่มีประสิทธิภาพสูงสุด
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ร่วมกับ ดร.อดิศร พร้อมเทพ อดีตอธิบดีกรมประมง และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยผู้แทนจากองค์กรภาคประชาสังคม เดินทางลงพื้นที่เพื่อพบปะพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ ชุมชนประมง อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี และสมาคมประมงพื้นบ้าน อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อร่วมกันรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน เกี่ยวกับการพัฒนาแนวทางการขอออกใบอนุญาตทำประมงพื้นบ้าน เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของชาวประมงมากที่สุด และสามารถช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในท้องถิ่นให้มีความอุดมสมบูรณ์
ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พร้อมคณะทำงาน ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อพบปะกับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านไปแล้ว 3 ครั้ง คือ กรุงเทพมหานคร นครศรีธรรมราช และระยอง โดยพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ดังกล่าวต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวทางการขออนุญาตทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้รับฟังแนวคิดรวมทั้งปัญหาของพี่น้องชาวประมง เพื่อนำมาเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ในการกำหนดเกณฑ์ในการออกใบอนุญาต รวมทั้งการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงจากการรับฟังปัญหาของพี่น้องตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตทำประมงพื้นบ้านนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันระหว่างรัฐและชาวประมงพื้นบ้าน ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของแต่ละพื้นที่ แต่ละฤดูกาล รวมทั้งอุปกรณ์การจับสัตว์น้ำที่ไม่ทำลายธรรมชาติและสัตว์น้ำขนาดเล็ก เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืน อีกทั้งยังเสมือนเป็นการลงทะเบียนให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาครัฐสามารถเข้าช่วยเหลือ สนับสนุนการทำประมงพื้นบ้าน ให้เป็นไปได้อย่างยั่งยืนและสืบทอดสู่รุ่นลูกหลานได้ต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะอยู่บนพื้นฐานการดำเนินการตามที่ พ.ร.ก.ประมง กำหนด โดยหลังจากประชุมรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะได้มีการนำผลการหารือเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติพิจารณาดำเนินการต่อไป
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตามความตั้งใจของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งได้มอบหมายให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟ้งความคิดเห็น และร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อให้เป้าหมายของการออกใบอนุญาตด้งกล่าวมีประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถบังคับใช้ได้จริง วันนี้ได้เดินทางพร้อมคณะลงพื้นที่ 2 จังหวัด คือปัตตานี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกระผมมีความตั้งใจอยากจะเข้ารับฟังปัญหาและความคิดเห็นของพี่น้องชาวประมงให้ได้มากที่สุด ในวันนี้ได้มีการพูดคุยและรับรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องในทั้งสองพื้นที่ รวมทั้งวิถีชีวิตในการออกเรือทำการประมงเพื่อยังชีพของตนเองและครอบครัว ดังนั้นเราจึงต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทางเราก็นำเสนอประโยชน์ของการออกใบอนุญาตดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทั้งพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและประเทศชาติ