รมต.ยุติธรรม มอบนโยบายหลัง ป.ป.ส. ระดมความคิดเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด ย้ำต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 100 วัน เริ่ม 1 ธันวาคมนี้
1 min readวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมรับฟังและให้ข้อคิดเห็นจากการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อยในการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งนำเสนอโดยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ส. และมีผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมเข้าร่วมฟังและสังเกตการณ์ ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จากการประชุมครั้งนี้ ข้าราชการ ป.ป.ส. ได้รับรู้ในทิศทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ได้รับฟัง ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นหน่วยปฏิบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ส และเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด สิ่งที่เป็นนโยบายหลักคือ เราต้องการให้เห็นผลภายใน 1 ปี ว่าปัญหายาเสพติดได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และที่สำคัญจะต้องทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น ซึ่งต้องยอมรับว่ากฎหมาย กฎระเบียบ และหลักเกณฑ์ เมื่อออกมาแล้ว พฤติการณ์ของขบวนการค้ายาเสพติดก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตามอยู่ตลอด
โดยแนวทางที่ได้จากการสนทนาในวันนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ใน 100 วันแรก เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย 3 นโยบาย คือ 1. การสกัดกั้นยาเสพติดเข้าประเทศไทย โดยการจัดตั้งศูนย์บัญชาการสกัดกั้นปราบปรามยาเสพติด 2. นำกลุ่มผู้เสพที่มีอาการทางจิตรุนแรง และอาจเป็นอันตรายต่อชุมชน เข้ารับการบำบัด โดยประสานความร่วมมือกับสาธารณสุขและชุมชน 3. ด้านการบริหารจัดการ คือ ใช้ข้อมูลของ ป.ป.ส. เพื่อตรวจสอบการบริหารจัดการยาเสพติด ซึ่งหากพบว่ามีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องต้องออกมาตรการเพื่อดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด
ด้าน พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. ซึ่งได้ร่วมรับฟังการนำเสนอ และได้ให้ข้อคิดเห็นว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องมีการอ้างอิง งานวิจัย เอกสารทางวิชาการ และข้อมูลสถิติประกอบ จึงจะทำให้สภาพปัญหาที่ชัดเจน ยกตัวอย่าง การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 (United Nations General Assembly Special Session 2016) หรือ UNGASS 2016 ที่ได้ปรับแนวคิดในการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยใช้งานวิจัย ซึ่งแนะนำว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย ต้องใช้การสาธารณสุขนำ และชุมชนต้องเข้มแข็ง ซึ่งมีหลายข้อที่ ป.ป.ส. ต้องนำไปขบคิดเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนแนวทางได้มีประสิทธิภาพ และเห็นตรงกันกับคำพูดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “ยาเสพติดกลัวครอบครัวที่อบอุ่น ยาเสพติดกลัวชุมชนที่เข้มแข็ง” หากเข้าใจในกรอบแนวคิดนี้ แล้วนำไปขับเคลื่อนได้ถูกต้อง ซึ่งยืนยันว่าทุกท้องถิ่นนั้นสำคัญ และสุดท้ายได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ว่าพวกเราจะต้องรุกรบ รวดเร็ว และรอบคอบ เพื่อที่จะต่อสู้กับปัญหายาเสพติดต่อไป