บิ๊กซีหลวงลุยต่อเนื่อง ระดมหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ทั่วประเทศ เตรียมแผนนำผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดเข้าบำบัด คืนความปลอดภัยให้ชุมชน
1 min readเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผู้อาการจิตเวชจากยาเสพติด
ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick win) เพื่อเตรียมมาตรการและแผนปฏิบัติการรองรับ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย 30 จังหวัด รวมเกือบ 300 คน ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น งานจัดระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2566
การประชุมในครั้งนี้ เพื่อเตรียมมาตรการรองรับนโยบายการลดความรุนแรงจากปัญหายาเสพติดให้ได้ภายใน 1 ปี ของรัฐบาล
ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีปฏิบัติการ Quick Win ในการนำผู้ป่วยที่มีอาการจิตเวชจากยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งมีผู้ป่วยจากยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชเป็นกลุ่มเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการนำเข้ารับการบำบัดก่อน เพื่อลดอันตรายในชุมชน และการประชุมนี้เป็นการซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินงานดูแลส่งต่อผู้มีอาการทางจิตฯ และจัดทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ Quick win จำนวน 30 จังหวัด 85 อำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้มีอาการทางจิตฯ กลุ่มเร่งด่วน (เฝ้าระวังสูงและเฝ้าระวังสูงสุด) ที่ต้องดำเนินการ จำนวน 4,414 คน เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะขยายการดำเนินงานไปทั่วประเทศ
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ หรือบิ๊กหลวง กล่าวว่า ขอบคุณทุกหน่วยที่ได้มาร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมพร้อม ตั้งแต่การเตรียมสถานพยาบาลให้พร้อม การนำส่งผู้ป่วยจิตเวชเข้าสู่กระบวนการบำบัด ต่อเนื่องไปจนถึงการประคับประคองและดูแลผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้เมื่อกลับเข้าสู่ชุมชน เพื่อให้พร้อมเปิดปฏิบัติการในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย แต่อย่างน้อยเรามีตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินการเป็น Best practice ให้เรียนรู้และปรับใช้ในบริบทพื้นที่ที่ต่างกัน และเราต้องระดมกำลังกันจึงจะแก้ปัญหาได้เห็นผล
เพื่อให้ปัญหายาเสพติดลดลงจากประเทศของเรา
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวอีกว่า ปัญหายาเสพติดเราสู้ได้ หากเราร่วมกัน ไม่ต่างคนต่างทำ ซึ่งรัฐบาลต้องทำอย่างรอบด้าน ในการกำหนดพื้นที่พิเศษสกัดกั้นยาเสพติดชายแดนภาคเหนือและอีสาน, การปราบปรามตามยุทธการเด็ดปีกผู้ค้ารายย่อยซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
โดย ป.ป.ส.ต้องเป็นเจ้าภาพร่วมกับ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ในการดำเนินการทางกฎหมายกับเป้าหมายที่เรามีข้อมูลจากเส้นทางการเงิน, การลดความต้องการยาเสพติดในกลุ่มเสี่ยง, การนำผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือผู้มีอาการทางจิตเวช ต้องเอาคนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการบำบัด ที่เป็นสาเหตุให้เรามีการประชุมนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ และอีกส่วนคือผู้เสพยาเสพติดที่สามารถใช้ชีวิตในชุมชนได้ ซึ่งจะนำชุมชนมามีส่วนช่วยในการบำบัด หรือ CBTx (Community. Based Treatment and Rehabilitation)
“สำคัญที่สุดคือการสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชน ซึ่งผมย้ำอยู่เสมอว่าข้าราชการอย่างพวกเรา นั่งแต่ห้องแอร์ไม่ได้แล้ว ต้องลงไปสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชน ให้เขาเห็นว่าเราตั้งใจจริง ต้องเหนื่อยแต่เป็นสิ่งดีที่เราได้ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือครอบครัวที่เป็นทุกข์จากการมีคนในครอบครัวติดยาเสพติด” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าว