บิ๊กหลวง หารือ รอง กพฐ. ชี้เยาวชนต้องรู้ว่ายาบ้าทำให้คลุ้มคลั่ง ผุดไอเดียเตรียมประกวดคลิปสร้างสรรค์รู้ทันโทษพิษภัยในหมู่เยาวชน
1 min readเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง ผู้อำนวยสำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้การต้อนรับ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อหารือในประเด็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ณ สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง)โดยทั้ง 2 ฝ่ายต้องการแก้ปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ที่ปัจจุบัน สำนักงาน ป.ป.ส.พบว่าเยาวชนจำนวนหนึ่งมีปัญหาการเสพยาบ้า ซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียโอกาสทางการศึกษา และปัญหาสังคม และเห็นตรงกันในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือการป้องกันปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการปลูกภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาบ้า ซึ่งนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้เน้นย้ำเรื่องนี้ในการมอบนโยบายลดความรุนแรงของยาเสพติด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ขอให้ทุกฝ่ายเอาจริงช่วยเหลือลูกหลานให้พ้นยาเสพติด และการป้องกันผู้เสพยาเสพติดรายใหม่
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า คือ “ยาบ้า เป็นปัญหายาเสพติดของประเทศไทย นี่คือปัญหาแท้จริงที่บ่อนทำลายสังคมไทย โดยยาบ้าคิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของยาเสพติดที่แพร่ระบาดในประเทศไทย และที่บอกว่ายาบ้าเป็นปัญหาของสังคมไทย เพราะการเริ่มเสพ เริ่มติดยาบ้า มันนำไปสู่ ปัญหาต่อผู้เสพทางกาย จิตใจ ปัญหาอาชญากรรม ถ้าเสพจนมีอาการทางจิตก็อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้อื่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เยาวชนต้องได้รับรู้สิ่งเหล่านี้ ได้รู้ว่าการเสพยาบ้า จะทำให้เราสมองเสื่อม กลายเป็นผีร้าย กลายเป็นคนคลุ้มคลั่ง” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ได้เสนอให้ สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดประกวด TIKTOK เพื่อสื่อสารในประเด็นหลักคือ “ยาบ้า เป็นปัญหายาเสพติดของประเทศไทย” ในพื้นที่ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย อาชีวศึกษา และ กศน. เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้มีกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เสริมสร้างแรงจูงใจ และสร้างกระแสในระดับพื้นที่ให้ตระหนักถึงโทษพิษภัยของปัญหายาบ้า โดยกิจกรรมตลอดปี 2567 ด้าน นายธีร์ ภวังคนันท์ เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยเผยถึงข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเยาวชนในสถานศึกษาระดับ อนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา รวมกว่า 29,000 แห่ง จำนวนนักเรียนกว่า 6 ล้านคน และจะสนับสนุนในกิจกรรมนี้ด้วย เพื่อประโยชน์ต่อประเทศ และเยาวชน
“เป้าหมายของการประกวดคลิปคือการเตือนให้เยาวชนเข้าใจถึงผลกระทบที่สามารถเกิดได้เมื่อเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาบ้า ป้องกันไม่ให้เขาพลาดไปในเส้นทางที่ผิด เพื่อชีวิตของตนเอง และคนรอบข้างที่รักและเป็นห่วง โดยจะประชาสัมพันธ์รายละเอียดการประกวดนี้ให้ทราบต่อไป” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าว
—–