รัฐมนตรียุติธรรม ชูต้นแบบงานพัฒนาทางเลือกไทยแก้ไขปัญหายาเสพติดในเวทีการประชุม CND สมัยที่ 67 พร้อมร่วมหารือกับข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน ถกประเด็นความก้าวหน้าทรมานอุ้มหาย และการใช้สาธารณสุขนำในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
1 min readเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 น. ตามเวลากรุงเวียนนา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำคณะผู้แทนจากไทย ประกอบด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นายธนากร คัยนันท์ ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผลักดันบทบาทนำของไทยในการดำเนินงานด้านการพัฒนาทางเลือก ในการประชุม CND สมัยที่ 67
โดยร่วมเปิดกิจกรรมคู่ขนานของประเทศไทย หัวข้อ “ครบรอบ 10 ปี แนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” (10 YEARS OF THE UNITED NATIONS GUIDING PRINCIPLE (UNGPs) ON ALTERNATIVE DEVELOPMENT: PAST, PRESENT AND FUTURE) ซึ่งมี บราซิล จีน โคลอมเบีย ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เยอรมัน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เปรู สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ร่วมสนับสนุน พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิก ในการปรับใช้แนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก (UNGPs on AD) ให้เข้ากับสถานการณ์ยาเสพติดของแต่ละประเทศในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และเพื่อหารือแนวทางขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทางเลือกต่อไปในอนาคต
จากนั้นเมื่อเวลา 14.30 น. ตามเวลากรุงเวียนนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาทางเลือกของประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: จากพื้นถิ่นสู่สากล ช่วยพื้นที่สูง ช่วยประเทศ ช่วยโลก” (Thailand’s Alternative Development towards Sustainable Development Goals: From Local to Global. Help the Highlands, Help the Country, Help the World) ซึ่งนำเสนอพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมวงศานุวงศ์ไทยต่อพัฒนาการการดำเนินงานด้านการพัฒนาทางเลือก และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวงกล่าวเปิดนิทรรศการฯ
ในช่วงเย็นเวลา 17.30 น. ตามเวลากรุงเวียนนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย
คณะผู้แทนไทย ได้หารือกับ นายโวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนประจำสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights: OHCHR) โดยผู้แทน OHCHR ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยต่อความก้าวหน้าของนโยบายยาเสพติดที่คำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชน โดย ปรับกรอบแนวคิดการแก้ไขปัญหายาเสพติดไปสู่การใช้สาธารณสุขนำในการแก้ไขปัญหา มีการให้ทางเลือกให้แก่ผู้เสพยาเสพติด นำผู้เสพเข้าสู่การบำบัดรักษาแทนการลงโทษหรือดำเนินคดี ตามหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” รวมถึงความก้าวหน้าของไทยในเรื่องการห้ามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย ตามที่ได้มีการออกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนแนวคิดในการ
แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยฝ่ายไทยได้เน้นย้ำนโยบายรัฐบาลปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับหลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมแลประชาธิปไตย ซึ่งแต่ละประเทศมีบริบทในการบังคับใช้กฏหมายแตกต่างกันตามขนบธรรมเนียม ความเชื่อ สภาวะทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการสร้างความปรองดองและความสามัคคีภายในประเทศ ในการบังคับใช้กฏหมายต่าง ๆ อย่างสมดุลในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางแนวความคิดของประชาชนในสังคม
ทั้งนี้ จากความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายยาเสพติดที่ใช้สาธารณสุขนำและคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชน โดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” รวมถึงความสำเร็จในการดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาฝิ่น โดยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้อย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยได้รับ
ความสนใจและการยอมรับจากประเทศต่าง ๆ เกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก