ป.ป.ส. ยกระดับความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี แก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด
1 min readวันศุกร์ที่ 22 มี.ค. 2567 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เป็นประธานการประชุมหารือประสานความร่วมมือแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวช ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรม โดยมี นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต สมาชิกวุฒิสภา นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางนุสรา วงษ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ นายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. และผู้แทนจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม Command
Centre สำนักงาน ป.ป.ส. ดินแดง
นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่
14 มีนาคม 2567 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับสูงในห้วงการประชุม CND สมัยที่ 67 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติกรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการชูนโยบายผู้เสพเป็นผู้ป่วย ควบคู่กับการปราบปราม ยึดทรัพย์นักค้าอย่างเด็ดขาด และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศเจตนารมณ์ที่จะลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดและความรุนแรงของปัญหาจิตเวชจากยาเสพติด
นอกจากนี้ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการลดปัญหาความรุนแรงของปัญหาจิตเวชจากยาเสพติด จึงมีการประชุมครั้งนี้ขึ้น โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพและยกระดับนักจิตวิทยากระทรวงยุติธรรม รวมทั้งขับเคลื่อนการดูแลผู้ป่วยจิตเวช และเตรียมความพร้อมชุมชนในการรองรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเมื่อกลับสู่ชุมชน
นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน คือ กิจกรรมในการดูแลผู้ต้องขังที่ไม่สอดคล้องกับปัจเจกบุคคล และนักจิตวิทยาของหน่วยงานพัฒนาพฤตินิสัยของกระทรวงยุติธรรมมีน้อย จึงเสนอให้ สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นหน่วยงานสนับสนุนหลักในการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ
นายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังเห็นว่าในปัจจุบันการดำเนินงานยังขาดเอกภาพ และขาดการบูรณาการระบบข้อมูลผู้ป่วย และเสนอแนวทางการลดความรุนแรงของผู้ป่วยจิตเวช โดยการฉีดยารักษาอาการทางจิต เพื่อลดปัญหาการทานยาไม่ต่อเนื่อง และส่งผลให้เกิดการคลุ้มคลั่งตามที่เป็นข่าว ซึ่งขณะนี้ยาฉีดดังกล่าวอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนยาหลักแห่งชาติ
โดยในห้วงท้ายที่ประชุมฯ ผู้แทนหน่วยงานร่วมเสนอสถานการณ์ และปัญหาอุปสรรคในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช และเห็นชอบในการพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยากระทรวงยุติธรรม การเตรียมความพร้อมชุมชนในการรองรับผู้ป่วยจิตเวช การจัดกลไกรองรับผู้ป่วยจากกระทรวงยุติธรรมเมื่อกลับสู่ชุมชนโดยใช้กลไก การดูแลโดยชุมชน หรือ CBTx และการบรรจุยารักษาอาการทางจิตในรูปแบบฉีดในบัญชียาหลักของประเทศ รวมทั้งเห็นชอบให้มีการหารือในรายละเอียด ที่จะเชื่อมระบบข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในความดูแลของกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุข (กรมสุขภาพจิต) เพื่อให้สามารถตรวจสอบผู้ป่วยแต่ละคนอยู่ในความดูแลของหน่วยงานไหน รวมทั้งสามารถส่งต่อข้อมูลเพื่อติดตามดูแลต่อเนื่อง (tracking) เพื่อการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพในระยะยาวและยั่งยืน