ป.ป.ส. ร่วม บช.ปส. และกระทรวงยุติธรรมไต้หวัน แถลง ตรวจยึดเฮโรอีน 14.8 กก. ครั้งนี้ลอบซุกผ่านเครื่องทำเครื่องดื่มเกล็ดน้ำแข็งเตรียมส่งไต้หวัน สุดท้ายไม่รอด เผยขยายผลจากเคสส่งยาผ่านหุ่นยนต์
1 min readวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2567 ณ สำนักงาน ป.ป.ส. กรุงเทพมหานคร พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นายปฤณ เมฆานันท์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. พ.ต.อ.วรัตม์ เจตนนนท์ ผกก.กก.3 บก.ปส.1 บช.ปส., Mr.TUNG, YU-KUANG กระทรวงยุติธรรมไต้หวัน (Ministry of Justice Investigation Bureau : MJIB) แถลงผลการตรวจยึดเฮโรอีนนำหนัก 14.8 กิโลกรัม (40 แท่ง) ซุกซ่อนในเครื่องทำเครื่องดื่มเกล็ดน้ำแข็ง 2 เครื่อง เตรียมจัดส่งไปปลายทางไต้หวัน ผ่านการขนส่งทางท่าอากาศยาน เหตุเกิดที่ บริษัทขนส่งเอกชนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ กทม.
พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า การตรวจยึดเฮโรอีนนำหนัก 14.8 กิโลกรัม (40 แท่ง)ซุกซ่อนในเครื่องทำเครื่องดื่มเกล็ดน้ำแข็ง จำนวน 2 เครื่อง (ขนาด 58 x 48 x 71 เซนติเมตร) โดยภายในทำเป็นกล่องเหล็กขนาดกลางเพื่อใช้ซุกซ่อนเฮโรอีน เตรียมจัดส่งไปปลายทางไต้หวัน ผ่านการขนส่งทางท่าอากาศยาน (ค่าขนส่งสินค้าดังกล่าวราคา 22,000 บาท)
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า การตรวจยึดยาเสพติดดังกล่าว สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ ชุดปฏิบัติการปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) ตรวจยึดคีตามีน 320 กิโลกรัม ซุกซ่อนในฐานรองหุ่นยนต์เหล็ก เตรียมส่งไต้หวันผ่านการขนส่งทางเรือ พร้อมขยายจับกุมผู้ต้องหา 1 ราย ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลการสืบสวน ร่วมกับ กระทรวงยุติธรรมไต้หวัน (Ministry of Justice Investigation Bureau : MJIB) อย่างใกล้ชิด กระทั่งวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ร่วมกับ บก.ปส.1 บช.ปส. สืบสวนทราบว่า มีบุคคลในเครือข่ายยาเสพสติดเตรียมจัดส่งยาเสพติดไปยังไต้หวัน จึงดำเนินการสืบสวนและตรวจสอบพบพัสดุระหว่างประเทศต้องสงสัยที่คาดว่าจะซุกซ่อนยาเสพติด จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเครื่องทำเครื่องดื่มเกล็ดน้ำแข็ง จำนวน 2 เครื่อง โดยภายในทำเป็นกล่องเหล็กขนาดกลางเพื่อใช้ซุกซ่อนเฮโรอีนเครื่องละ 20 แท่ง (น้ำหนัก 7.4 กิโลกรัม) รวม 2 เครื่อง ซุกซ่อนเฮโรอีนน้ำหนักรวม 14.8 กิโลกรัม
สำนักงาน ป.ป.ส. จะร่วมกับกระทรวงยุติธรรมไต้หวัน เพื่อสืบสวนขยายผลถึงผู้รับสินค้าและเครือข่ายการค้ายาเสพติดในไต้หวัน โดยเฮโรอีน 14.8 กิโลกรัม หากสามารถลักลอบนำเข้าไปขายปลีกที่ไต้หวัน ราคารวมประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งราคาจเพิ่มสูงขึ้น 8 – 10 เท่า จากราคาในประเทศไทย และในส่วนของผู้ดำเนินการจัดส่งสินค้า สำนักงาน ป.ป.ส. อยู่ระหว่างขยายผลรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อนำผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินการทางกฎหมาย
สถิติในห้วงปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 – ปัจจุบัน) ภายใต้โครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task force : AITF) มีสถิติการ จับกุม/ ตรวจยึด จำนวน 80 คดี ผู้ต้องหา 74 คน ของกลางยาบ้า 24,311 เม็ด ไอซ์ 43.20 กิโลกรัม เฮโรอีน 63.76 กิโลกรัม โคเคน 33.86 กิโลกรัม คีตามีน 3.2 กิโลกรัม เอ็กซ์ตาซี 14 เม็ด ประเทศปลายทางส่งออกส่วนใหญ่ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการค้ายาเสพติดในลักษณะเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ลักลอบลำเลียงยาเสพติดโดยใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่สามยังพบอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านการขนส่งทางพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศ ผ่านการขนส่งทางอากาศ และ ซุกซ่อนในสินค้าต่าง ๆ ผ่านการขนส่งทางเรือ รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ยกการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระสำคัญของชาติ และในการปราบปรามเครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติต้องประสานงานกับต่างประเทศเชิงรุก เพี่อหาข้อมูลการข่าว และขยายผลเพื่อจัดการหัวหน้าเครือข่ายและยึดทรัพย์ ซึ่งรัฐบาลได้มีโครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task force : AITF) และ สกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) เป็นหน่วยปฏิบัติต้นทางในการสกัดกั้นการนำยาเสพติดเข้าพื้นที่ตอนใน และส่งออกไปยังประเทศที่สาม ทั้งนี้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวการสืบสวนร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศ จะเป็นส่วนสำคัญช่วยให้การจับกุมประสบผลสำเร็จมากขึ้นเช่นในครั้งนี้ ซึ่งต้องขอบคุณความร่วมมือจาก MJIB หรือกระทรวงยุติธรรมไต้หวัน
——————————————————-