รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม นำคณะ ศึกษาแนวทางเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยจากโปรตุเกส พร้อม เยือนเรือนจํากลางกรุงลิสบอน
1 min readเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต สมาชิกวุฒิสภา พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นางสาวสุภาพรรณ เตียพิริยะกิจ อัครราชทูตที่ปรึกษา ณ กรุงลิสบอน นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส.และคณะ ได้เข้าหารือข้อราชการกับ ดร. ชูเอา กูเลา ประธานสถาบันเพื่อพฤติกรรมเสพติดและการพึ่งพายาเสพติดของโปรตุเกส (Dr. João Goulão, Chairman of Institute for Addictive Behaviours and Dependencies) ณ สถาบันเพื่อพฤติกรรมเสพติดและการพึ่งพายาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ประเทศโปรตุเกส
ในการหารือฯ ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความสนใจสอบถามถึงภารกิจของสถาบันเพื่อพฤติกรรมเสพติดและการพึ่งพายาเสพติดของโปรตุเกส รวมถึงรูปแบบและการดำเนินงานของคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขการติดยาเสพติดในระดับพื้นที่ (Commission for the Dissuasion of Drug Addiction : CDTs) ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นแบบสำคัญภายใต้โปรตุเกสโมเดล ในการนี้ ประธานสถาบันเพื่อพฤติกรรมเสพติดและการพึ่งพายาเสพติดของโปรตุเกส ได้ให้ข้อมูลว่า สถาบันเพื่อพฤติกรรมเสพติดและการพึ่งพายาเสพติดของโปรตุเกส เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำหน้าที่ดูแลผู้ติดยาเสพติด รวมทั้งสารเสพติดชนิดอื่นๆ โดยสถาบันฯ มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายอีกมากกว่า 30 หน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหายาเสพติด อีกทั้งในระดับพื้นที่ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา ใน 18 เขต ทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดและมาตรการที่เกี่ยวข้อง รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ ตลอดจนเฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์ยาเสพติด การใช้สารเสพติด และสารทดแทนในพื้นที่ ภายใต้หลักการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) โดยในแต่ละศูนย์ฯ จะมีคณะกรรมการจำนวน 3 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงยุติธรรมจำนวน 2 คน และแพทย์ 1 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงสาธารณสุข สำหรับประธานคณะกรรมการฯ จำนวน 1 คน จะแต่งตั้งโดยรัฐบาล โดยคณะกรรมการฯ ดังกล่าว จะทำหน้าที่พิจารณามาตรการดำเนินการกับผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ เช่น ส่งไปบำบัด กำหนดมาตรการจัดการกับผู้ติดยาเสพติดที่มีความเหมาะสมกับกรณี และตั้งรางวัลจูงใจ ฯลฯ ทั้งนี้ การมีคณะกรรมการฯ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเชื่อมโยงการทำงานของกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุข เข้ากับชุมชน และผู้ติดยาเสพติด
นอกจากนั้น ประธานสถาบันเพื่อพฤติกรรมเสพติดและการพึ่งพายาเสพติดของโปรตุเกส ยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการเสพยาเสพติดไม่ผิดกฎหมายในโปรตุเกส แต่ตัวยาเสพติดยังคงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยสาเหตุที่โปรตุเกสยกเลิกความผิดอาญาสำหรับการเสพยาเสพติด เนื่องจากต้องการลดจำนวนผู้กระทำความผิดลง และส่งต่อผู้ติดยาเสพติดให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดที่เหมาะสม แต่หากเป็นกรณีที่เป็นผู้ค้า จะถูกส่งไปดำเนินคดีทันที ทั้งนี้จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าการบูรณาการการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนจะช่วยให้สามารถปรับปรุง แก้ไข และพัฒนางานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในช่วงท้าย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวขอบคุณประธานสถาบันเพื่อพฤติกรรมเสพติดและการพึ่งพายาเสพติดของโปรตุเกส พร้อมทั้งเชิญมาเป็นวิทยากรเพื่อนำโปรตุเกสโมเดลมาถ่ายทอดในประเทศไทย ซึ่งประธานฯ มีความยินดี พร้อมทั้งได้ให้กำลังใจและอวยพรให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการนำโปรตุเกสโมเดลไปปรับใช้ เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายประเทศที่นำไปปรับใช้และประสบความสำเร็จ เช่น รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา
จากนั้นเวลา 12.30 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะ ได้เดินทางไปยังเรือนจํากลางกรุงลิสบอน (Lisbon Prison) เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการบริหารงานในเรือนจำ และระบบจัดการนักโทษ โดยมีคุณโรมูโล มาเธอุส ผู้อำนวยการฝ่ายการบริการเรือนจำและการฟื้นฟูทางสังคม (Mr. Romulo Mateus, Directorate of Prison Services and Social Rehabilitation) ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งได้ให้ข้อมูลสภาพทั่วไปของเรือนจำว่า เรือนจำกลางกรุงลิสบอน สร้างขึ้นเมื่อปี 1873 โดยปัจจุบันมีอายุกว่า 151 ปี แล้ว สำหรับผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศมีจำนวน 11,280 คน ซึ่งส่วนมากเป็นความผิดฐานค้ายาเสพติด
นอกจากนั้น ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการบำบัดผู้ต้องราชทัณฑ์ในเรือนจำ ซึ่งมีการดำเนินการมากว่า 31 ปีแล้ว โดยในเบื้องต้นจะรับบำบัดทั้งผู้ติดยาเสพติดและผู้ติดแอลกอฮอล์ โดยผู้เข้ารับการบำบัดต้องเซ็นสัญญาและข้อตกลง อาทิ ไม่แอบใช้สารเสพติด และจะอยู่ในระเบียบวินัย เป็นต้น จากนั้นผู้ต้องราชทัณฑ์จะเข้าสู่โมเดลบำบัด ซึ่งใช้เวลา 18 เดือน โดยแบ่งเป็น 1) การปรับตัว 7 เดือน 2) การรับผิดชอบตัวเอง 5 เดือน 3) การใช้ชีวิตและอบรมต่าง ๆ 3 เดือน 4) การกลับเข้าสู่สังคม 3 เดือน นอกจากนั้น ยังมีกระบวนการในการฝึกวินัยและพัฒนาพฤตินิสัยควบคู่กันไปอีกด้วย
สุดท้ายนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวขอบคุณ ผู้อำนวยการฯ และคณะที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พร้อมทั้งขอนำโปรตุเกสโมเดลมาศึกษาและประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้กระบวนการบำบัดผู้ต้องขังที่ติดยาเสพติดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
———-