9 กันยา ครบรอบ 4 ปีสถาปนา บช.สอท. เปิดผลงานตำรวจไซเบอร์ยุคบิ๊กเจี๊ยบ จับผู้ต้องหากว่า 3,600 ราย ยึดทรัพย์แล้วกว่า 3,484 ล้านบาท
1 min readผู้สื่อข่าว
หนังสือพิมพ์ อินไชด์โปลิศไทม์. รายงานจาก
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บช.สอท. ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 9 กันยายน 2563 เพื่อเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มุ่งเน้นการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ในทุกรูปแบบ จนเป็นที่รู้จักของประชาชนในนาม “ตำรวจไซเบอร์” กระทั่งวันที่ 9 ก.ย.67 จึงถือเป็นวันครบรอบปีที่ 4 ของตำรวจไซเบอร์
โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้ตั้งแต่เวลา 08.30 น. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้นำคณะผู้บังคับบัญชาของหน่วยและข้าราชการตำรวจในสังกัด พร้อมด้วยคณะแม่บ้านตำรวจไซเบอร์ ร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณโดยรอบตึก บช.สอท. ร่วมทำพิธีเจริญพุทธมนต์พร้อมทำบุญตักบาตรถวายปัจจัย เครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ จากนั้นได้ร่วมกันมอบทุนการศึกษาแก่บุตรของข้าราชกาตำรวจในสังกัด และมอบโ,เกียรติคุณพร้อมรางวัลแก่ข้าราชกาตำรวจที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์
ในยุคการบริหารงานของ พลตำรวจโท วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้นำข้าราชการตำรวจในสังกัดร่วมสร้างผลงานทั้งด้านการป้องกันปราบปรามและสืบสวนสอบสวนจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นมาโดยต่อเนื่อง โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาไปแล้วกว่า 3,600 ราย ยึดอายัดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดกว่า 3,484 ล้านบาท และได้ส่งมอบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดเพื่อเข้าสู่กระบวนการเฉลี่ยคืนแก่ผู้เสียหายไปแล้วจำนวนมาก
โดยมีคดีสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ อาทิ
– ปฏิบัติการ TRUST NO ONE จับกุมหัวหน้าแก๊งชาวจีนรวมทั้งผู้ร่วมขบวนการ หลอกลวงเหยื่อเทรดคริปโตในลักษณะไฮบริดสแกม โดยเปิดปฏิบัติการไปกว่า 4 ครั้ง ออกหมายจับตัวการสำคัญชาวต่างชาติ 5 ราย รวมทั้งขยายผลยึดทรัพย์กว่า 2,000 ล้านบาท โดยนำทรัพย์สินส่ง ปปง. เพื่อเตรียมเฉลี่ยคืนผู้เสียหายแล้ว
– ปฏิบัติการ Shutdown STINGRAY ทลายรังโจร สวมรอยธนาคารส่ง SMS หลอกดูดเงินเหยื่อ จับกุมผู้ต้องหา 6 ราย ตรวจยึดรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) จำนวน 4 คัน พร้อมอุปกรณ์ 5 ชุด รวมทั้งจับ 2 หนุ่มชาวฮ่องกง เดินสะพายเป้แบกเครื่อง (False Base Station) ตระเวนส่งสัญญาณ SMS กลางห้างดังย่านปทุมวัน
– ปฏิบัติการ Shell Game ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวอินเดียร่วมกับชาวไทยหลอกลวงผู้สูงอายุในประเทศสหรัฐอมริกา สร้างความเสียหายกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
– ปฏิบัติการจับกุมประธานกลุ่มบิ๊กไบค์ OUTLAWS ของประเทศไทย พร้อมผู้ร่วมขบวนการอีก 11 ราย เปิดเว็บพนันเงินหมุนเวียนกว่า 600 ล้านต่อปี พร้อมยึดทรัพย์กว่า กว่า 150 ล้านบาท
– ปฏิบัติการขยายผลยึดทรัพย์แก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ เครือข่ายนางสาวธารารัตน์ ตรวจค้น 13 จุด ยึดทรัพย์รวมกว่า 1,205 ล้านบาท
– ปฏิบัติการ The Purge กวาดล้างอาชญากรข้ามโลก ทั้ง 2 Ep. จับกลุ่มผู้ต้องหาชาวจีนตัวการแก๊ง Hybrid Scam พร้อมพวก ตรวจยึดทรัพย์สินรวมกันกว่า 490 ล้าน ส่งมอบทรัพย์สินเพื่อเตรียมเฉลี่ยคืนแล้วกว่า 80 ล้านบาท
– ปฏิบัติการ BLACK HAT ทลายขบวนการหลอกลงทุนคริปโตพัวพันเว็บพนันออนไลน์ จับกุมผู้ต้องหา 23 ราย ตรวจยึดทรัพย์สินกว่า 125 ล้าน ส่งมอบเงินสดที่ยึดได้ 117 ล้านบาท เข้าสู่กระบวนการเฉลี่ยทรัพย์คืนผู้เสียหาย
– ปฏิบัติการ HANG UP รวบหัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์สุดโหดพร้อมสมุน 12 ราย บังคับทำยอดวีคละ 20 ล้าน ฟันรายได้นับพันล้านต่อปี
– ปฏิบัติการ SHUTDOWN EURO BET บุกทลาย 2 เว็บแทงบอลยูโรรายใหญ่ รวบแก๊งชาวจีนตัวการพร้อมเครือข่าย ยึดทรัพย์รวมกว่า 287 ล้านบาท
– ปฏิบัติการขยายผลขบวนการหลอกลงทุนฟาร์มเกษตร “TURTLE FARM” ยึดทรัพย์กว่า 116 ล้าน ส่งมอบ ปปง. เพื่อเตรียมเฉลี่ยนคืนผู้เสียหาย
– ปฏิบัติการทลายเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์รายใหญ่กว่า 60 เว็บไซต์ รวมถึงการพนันออนไลน์รูปแบบต่างๆ อีกจำนวนมาก จับกุมตั้งแต่เจ้าของเว็บไซต์ผู้รับผลประโยชน์จนถึงผู้ร่วมขบวนการ ยึดทรัพย์รวมกันกว่า 1,900 ล้านบาท
– ปฏิบัติการ ซิม สาย เสา ทลายเสาสถานีส่งสัญญาณและสายเคเบิลอินเตอร์เน็ตตามแนวชายแดนของประเทศไทยที่ลักลอบส่งสัญญาณไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายซิมม้าพร้อมยึดของกลางมหาศาล เพื่อเป็นการตัดวงจรแก๊ง Call Center โดยสมบูรณ์
นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น การจับกุมซิมผีและบัญชีม้า, การจับกุมผู้ลักลอบซื้อขายข้อมูลส่วนบุคล, การจับกุมอาวุธปืน, การจับกุมเครือข่ายค้ามนุษย์ การจับกุมเครือข่ายลวงเด็กถ่ายภาพและวิดีโอลามกอนาจาร เป็นต้น
สำหรับด้านการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตำรวจไซเบอร์ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน โดยเน้นการเตือนภัยไซเบอร์เพื่อสื่อสารให้ประชาชนทราบถึงรูปแบบการหลอกลวงของมิจฉาชีพ และไม่ตกเป็นเหยื่อ ทั้งช่องทางโซเชียลมีเดีย โทรทัศน์ และ วิทยุ รวมทั้ง การร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือในการผลิตคอนเทนต์เตือนภัยไซเบอร์ นอกจากนี้ ตำรวจไซเบอร์ยังน้อมนำพระราโชบายของโครงการจิตอาสาพระราชทาน มาบูรณาการร่วมกับนโยบายวัคซีนไซเบอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจัดข้าราชการตำรวจจิตอาสาออกไปบรรยายความรู้ตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะสถานศึกษา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์แก่เยาวชนทั่วประเทศ และยังลงพื้นที่จัดกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมให้ตำรวจไซเบอร์ทำความดีด้วยหัวใจ โดยไม่หวังผลตอบแทน
เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความมุ่งหวังของประชาชน และมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามวิสัยทัศน์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ว่า “เป็นองค์กรสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างมืออาชีพ ที่ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา”