ศุลกากรคุมเข้มจับกุมสินค้าผิดกฎหมาย มูลค่ากว่า 37.19 ล้านบาท
1 min readฉบับที่ 61/2567 วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2567
ผู้สื่อข่าว
หนังสือพิมพ์
อินไชด์โปลิศ์ไทม์
รายงานจาก
วันนี้ (20 กันยายน 2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้ายาเสพติดให้หมดไปจากประเทศ รวมถึงการเร่งป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และจำหน่าย ยาเสพติด บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และสินค้าอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสังคมอีกด้วย ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขันเรื่องดังกล่าว โดยนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง โดยบูรณาการด้านการข่าวอย่างต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภายใต้โครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force : AITF) หน่วยงานภายใต้โครงการ
ความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) รวมถึงหน่วยงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำหรับด้านการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า กรมศุลกากรเร่งดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่วนควบอย่างจริงจัง เด็ดขาด และต่อเนื่อง โดยให้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและเพื่อปกป้องเด็ก เยาวชนและประชาชน ที่อาจได้รับสารพิษจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้เจ้าหน้าที่ตามด่านศุลกากรในพื้นที่ ตรวจเข้มกับสินค้าทุกประเภทที่อาจมีการซุกซ่อนบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในราชอาณาจักร ทางตู้สินค้าและพัสดุไปรษณีย์ รวมถึงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสืบสวนหาข่าวลักลอบการนำเข้า นอกจากนี้ ยังให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรลงพื้นที่ตรวจเข้มร้านค้า โกดัง ที่มีการข่าวแจ้งว่าอาจมีการลักลอบจำหน่ายหรือเก็บบุหรี่ที่ไม่เสียภาษี บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์
โดยในระหว่างวันที่ 7 – 15 กันยายน 2567 กรมศุลกากรได้เร่งระดมกำลังปฏิบัติการปราบปรามสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด และสินค้าอื่น ๆ ซึ่งมีผลงาน
การจับกุมที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1. บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
1.1 เมื่อวันที่ 1 – 15 กันยายน 2567 สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม และด่านศุลกากรสงขลา ได้ออกปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามการลักลอบหนีศุลกากร โดยเข้าตรวจค้นพัสดุในบริษัทขนส่งเอกชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา ผลการตรวจสอบ พบบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 633,000 มวน มูลค่า 3,165,000 บาท บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ จำนวน 7,425 ชิ้น มูลค่า 1,958,150 บาท และบารากู่ จำนวน 10 กิโลกรัม มูลค่า 10,000 บาท มูลค่ารวม 5,123,150 บาท ซึ่งของดังกล่าวมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงทำการอายัดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 245 มาตรา 246 และมาตรา 247 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
1.2 เมื่อวันที่ 1 – 15 กันยายน 2567 ด่านศุลกากรชุมพรภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 ได้ออกปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามการลักลอบหนีศุลกากร ณ จุดตรวจศุลกากรปฐมพร รวมถึงเข้าตรวจค้นโกดังสินค้าขอบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง พบบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 39,000 มวน มูลค่า 98,000 บาท ซึ่งของดังกล่าวมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงทำการอายัดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 และ 246 ประกอบกับมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
1.3 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 กองสืบสวนและปราบปราม ได้เข้าตรวจสอบพัสดุภัณฑ์ ณ ที่ทำการบริษัทไปรษณีย์ไทย สาขาศรีราชา เนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีของที่ยังไม่ได้เสียภาษีอากร ของต้องห้าม – ต้องจำกัดหรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ขนส่งมายัง ณ ที่ทำการของบริษัทฯ จึงเชิญสำนักงานป้องกันบุหรี่ผิดกฎหมาย การยาสูบแห่งประเทศไทยเข้าร่วมสังเกตการณ์ ผลการตรวจสอบพบบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 165,600 มวน มูลค่า 800,000 บาท ซึ่งของดังกล่าวมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ
และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงทำการอายัดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 244 และมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
1.4 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 กองสืบสวนและปราบปราม ได้เข้าตรวจสอบพัสดุภัณฑ์ ณ ที่ทำการบริษัทไปรษณีย์ไทย สาขาสมุทรปราการ เนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีของที่ยังไม่ได้เสียภาษีอากร
ของต้องห้าม – ต้องจำกัดหรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ขนส่งมายัง ณ ที่ทำการของบริษัทฯ ผลการตรวจสอบพบบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 140,000 มวน มูลค่า 700,000 บาท บุหรี่ไฟฟ้าประเภทใช้แล้วทิ้ง จำนวน 480 ชิ้น มูลค่า 168,000 บาท มูลค่ารวม 868,000 บาท ซึ่งของดังกล่าวมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงทำการอายัดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 244 และมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
1.5 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 กองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการตรวจค้นร้านค้า ในเขตพื้นที่พระโขนงและสวนหลวง กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 แห่ง พบบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 1,868 ชิ้น มูลค่า 300,000 บาท ซึ่งของดังกล่าวมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงทำการอายัดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบกับมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 17 กันยายน 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมบุหรี่ 1,877 คดี ปริมาณ 35,429,751 มวน มูลค่า 192,279,678 บาท บุหรี่ไฟฟ้า 378 คดี ปริมาณ 1,232,712 ชิ้น มูลค่า 107,652,917 บาท รวมทั้งสิ้น 2,255 คดี มูลค่ารวม 299,932,595 บาท
2. ยาเสพติด
2.1 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการวิเคราะห์
ใบขนสินค้าขาออกที่มีความเสี่ยงส่งออกยาเสพติด พบใบขนสินค้าต้องสงสัยระบุปลายทางสหราชอาณาจักร สำแดงชนิดสินค้าเป็นพื้นยางสำหรับใช้ในฟิตเนส จึงประสานหน่วยงานภายใต้โครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) และทำการตรวจสอบ
พบช่อดอกของพืชตระกูลกัญชา จำนวน 153.3 กิโลกรัม มูลค่า 5 ล้านบาท
กรณีนี้เป็นการพยายามส่งของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักร โดยสำแดงชนิดของ ปริมาณ น้ำหนักและประเภทพิกัดเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัด อันเป็นความผิดฐานแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนและฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัดตามมาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542
2.2 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการวิเคราะห์ใบขนสินค้าขาออกที่มีความเสี่ยงส่งออกยาเสพติด พบใบขนสินค้าต้องสงสัยระบุปลายทางสหราชอาณาจักร สำแดงชนิดสินค้าเป็นถุงมือผ้า จึงประสานหน่วยงานภายใต้โครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) และทำการตรวจสอบ พบกัญชาและช่อกัญชา
อัดแท่ง ช่อดอกกัญชาและกัญชามวน น้ำหนัก 1.3 ตัน มูลค่า 20 ล้านบาท
กรณีนี้เป็นการพยายามส่งของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักร โดยสำแดงชนิดของ ปริมาณ น้ำหนักและประเภทพิกัดเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัด อันเป็นความผิดฐานแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนและฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัดตามมาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542
2.3 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ได้ตรวจพบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย จำนวน 1 หีบห่อ ต้นทางประเทศสหราชอาณาจักร เบื้องต้นพบความผิดปกติจากภาพ X – RAY จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม พร้อมชุดปฏิบัติการ AITF และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อตรวจสอบโดยละเอียด พบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคเคน (COCAINE) ลักษณะเป็นผงสีขาว บรรจุอยู่ภายในถุงพลาสติกใส จำนวน 1 ถุง น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 4 กรัม มูลค่า 12,000 บาท ต่อมาในวันเดียวกัน พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย จำนวน 1 หีบห่อ ต้นทางประเทศฝรั่งเศส เมื่อตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคเคน (COCAINE) ลักษณะเป็นผงสีขาว บรรจุอยู่ภายในถุงพลาสติกใส จำนวน 1 ถุง น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 7 กรัม มูลค่า 21,000 บาท นอกจากนี้ ยังพบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย จำนวน 1 หีบห่อ ต้นทางประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 คีตามีน (KETAMINE) ลักษณะเป็นผงสีขาว บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกซุกซ่อนภายในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน จำนวน 4 กระปุก น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 2,002 กรัม มูลค่า 2,002,000 บาท
ทั้ง 3 กรณีนี้เป็นความผิดฐานนำของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 244 และมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
2.4 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 กองสืบสวนและปราบปราม ได้ตรวจพบพัสดุเร่งด่วนขาเข้าระหว่างประเทศต้องสงสัย ซึ่งอาจมีการซุกซ่อนยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร ณ คลังสินค้า
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสำแดงเป็น HS 761510 COOKWARE ต้นทางประเทศฝรั่งเศส ผลการตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 คีตามีน (KETAMINE) ลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น ห่อหุ้มด้วยพลาสติกใสซุกซ่อนอยู่ภายในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 1,650 กรัม มูลค่า 462,000 บาท
กรณีนี้เป็นความผิดฐานนำของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 244 และมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 19 กันยายน 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้น 159 คดี มูลค่ารวม 1,061,897,844 บาท