24 สิงหาคม ครบรอบ 2 ปีปลดล็อกพืชกระท่อม ป.ป.ส. แถลงความคืบหน้าพร้อมผลักดันพืชกระท่อมสู่ตลาดโลก
1 min readวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยถึงการดำเนินการในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา และความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับสถานะของ
พืชกระท่อมในมิติของกฎหมาย มิติของงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และเศรษฐกิจ และมิติของเศรษฐกิจ รวมถึงการดำเนินการในอนาคตเพื่อผลักดันให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจ และสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับพี่น้องประชาชน นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า แนวคิดการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด ริเริ่มโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อมุ่งหวังที่จะให้เป็นพืชที่สามารถสร้างเศรษฐกิจ และเม็ดเงินมหาศาลให้กับประชาชนและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกได้ กินได้ และขายได้ และใช้ตามวิถีชาวบ้านรวมถึงยังสามารถครอบครองได้อย่างถูกกฎหมาย และสามารถทำได้สำเร็จ คือ พืชกระท่อมถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติด เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 โดยในวันนี้เป็นวันครบรอบ 2 ปี ในการปลดล็อกพืชกระท่อม ซึ่งปีที่ 2 ของการปลดล็อกเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้นในหลายมิติ
นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวต่อว่าในมิติของกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ส. มีส่วนสำคัญในการผลักดัน และสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ตาม พรบ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เช่น
ให้การนำเข้า ส่งออก สามารถทำได้โดยผ่านการอนุญาตจากเลขาธิการ ป.ป.ส.และควบคุมให้อยู่ภายใต้กรอบของความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนเป็นหลัก เช่น การห้ามขายใบกระท่อมหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของใบกระท่อม ให้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ เป็นต้น และการคุ้มครองสุขภาพของบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี และกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ จากการบริโภคใบกระท่อม
นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเสริมอีกว่า ในมิติของงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และเศรษฐกิจ สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ดำเนินการวิจัยพืชกระท่อมร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศหลายแห่ง เพื่อผลักดันให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยใช้การวิจัยและพัฒนาพืชกระท่อมอย่างครบวงจร ทั้งต้นน้ำกลางน้ำ และปลายน้ำ โดยปัจจุบันมีโครงการศึกษาวิจัยจำนวน 31 โครงการสำคัญที่กำลังดำเนินการร่วมกัน
ซึ่งปัจจุบัน สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร กำลังดำเนินโครงการทดสอบความเป็นพิษเรื้อรังของสารสกัดใบกระท่อมด้วยน้ำในหนูแรทเพื่อหาปริมาณสารไมทราจีนีนในผลิตภัณฑ์ที่มีพืชกระท่อมเป็นส่วนประกอบให้สูงกว่าปัจจุบัน (ปัจจุบันอยู่ที่ 0.2 มิลลิกรัม) ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญอย่างมากในการปลดล็อกให้ผลิตภัณฑ์ที่มีพืชกระท่อมเป็นส่วนประกอบสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และสามารถขายได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดและมีความปลอดภัยต่อร่างกายของมนุษย์
ในมิติของเศรษฐกิจ รัฐบาล และสำนักงาน ป.ป.ส. พยายามผลักดันให้เกษตรกรสามารถขายพืชกระท่อมทั้งในรูปแบบของใบกระท่อม และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ จากพืชกระท่อมได้โดยที่ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ราคาขายไม่ต่ำจนเกินไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถสร้างเม็ดเงินจากพืชกระท่อมได้ รวมถึงผลักดันให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันเพื่อที่จะสามารถต่อรองราคาขายได้อย่างเหมาะสม ไม่โดนกดราคาเกินไป และพร้อมส่งเสริมการส่งออกไปขายต่างประเทศ เพราะถ้าส่งออกขายต่างประเทศได้ก็จะยิ่งเป็นอาชีพที่มั่นคงมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมพืชกระท่อม มีศักยภาพที่จะพัฒนาสร้างรายได้จำนวนมากให้กับเกษตรกร และประเทศไทย โดยในปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่าตลาดทั้งสิ้นประมาณ 1.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 18 ส.ค. 2566 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 35.42 บาท) คิดเป็นเงินบาท ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท คาดว่ามีชาวอเมริกันใช้ผลิตภัณฑ์จากกระท่อมประมาณ 11 – 15 ล้านคนสำนักงาน ป.ป.ส. จึงต้องการผลักดันต่อไป เพราะถือเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยที่เรามีพืชกระท่อมที่มีสรรพคุณที่สามารถพัฒนาสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล