ผู้แทน UNODC คนใหม่ ชื่นชมแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยและพร้อมสนับสนุนบทบาทนำของ ป.ป.ส. เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในภูมิภาค
1 min readวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 11.00 น. พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. หารือ นายมาซุด คาริมิพัวร์ ผู้แทนสำนักงานอาชญากรรมและยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Regional Office for Southeast Asia and the Pacific: ROSEAP) พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ UNODC ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ และหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต ณ ห้องรับรองเภา สารสิน สำนักงาน ป.ป.ส.
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวแสดงความยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งใหม่ พร้อมแนะนำผู้บริหาร สำนักงาน ป.ป.ส. โดยนายมาซุด ขอบคุณในการต้อนรับเป็นอย่างดีและเป็นเกียรติที่ได้เข้ารับตำแหน่งนี้ พร้อมทั้ง กล่าวชื่นชมความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ส. และ UNODC ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งความร่วมมือในกรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค ความร่วมมือผ่านกลไกสำนักงานประสานงานแก้ไขปัญหายาเสพติดบริเวณชายแดน (Border Liaison Office : BLO) และความร่วมมือในการพัฒนาวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ (วปส.) ซึ่งมีผลลัพธ์เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในภูมิภาค และยินดีที่จะทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคต่อไป
เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังกล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานที่เน้นหลักการ “รุกรบ จบเร็ว” ซึ่งตามที่ได้รับมอบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 1 ปี จากนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อลดความรุนแรงและ ความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้เปิดปฏิบัติการ Quick Win โดยร่วมมือกับกองทัพตั้งด่านและจุดตรวจบริเวณชายแดน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน มีผลการตรวจยึดยาบ้าได้มากกว่า 130 เท่าของช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า และสามารถยึดทรัพย์ได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังได้เปิดยุทธการ “เด็ดปีกผู้ค้ารายย่อย”เพื่อสร้างความมั่นใจและปลอดภัยแก่ชุมชน รวมถึงส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้กับปัญหา
ยาเสพติด ด้วยเชื่อว่าจุดแตกหักของการแก้ไขปัญหายาเสพติดอยู่ที่ชุมชน นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมาย
ยาเสพติดใหม่ ซึ่งเน้นการมองผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสม และสามารถกลับคืนสู่สังคมดำเนินชีวิตได้ตามปกติ จึงได้มุ่งเน้นการนำผู้มีอาการจิตเวชจากยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา โดยมีเป้าหมายจำนวน 4,414 คน ขณะนี้ดำเนินได้แล้วกว่าร้อยละ 90 จำนวน 4,004 คน สำหรับผู้ใช้
ยาเสพติดทั่วไป จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขนำเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment and Rehabilitation: CBTx)
นอกจากนี้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนเส้นทางการลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านทางประเทศเพื่อนบ้าน
ของไทย ซึ่งเป็นผลของความเข้มงวดในการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงได้นำคณะเยือน สปป.ลาว เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด และให้ความสำคัญกับการติดตามผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น คดีตัวอย่าง การจับกุมนายอ่อง
กิม วาห์ (Mr.Ong Gim Wah) ผู้ลักลอบค้ายาเสพติดชาวมาเลเซีย ที่มีบทบาทสำคัญในการลักลอบค้าไอซ์และ
คีตามีนไปยังออสเตรเลียและญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังได้นำคณะเยือนจีนเพื่อขอความร่วมมือในเรื่องการสกัดกั้น
การรั่วไหลของเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นในการลักลอบผลิตยาเสพติด ซึ่งมีผลกระทบต่อภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ในส่วนการดำเนินงานของวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ (วปส.) สำนักงาน ป.ป.ส. ยืนยันที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านการฝึกอบรมการปราบปรามยาเสพติดในภูมิภาค ที่เน้นความเป็นมืออาชีพ และขอรับการสนับสนุนจาก UNODC ในการจัดหลักสูตรการฝึกอบรม โดยที่ผ่านมา
มีหลายประเทศให้ความสนใจที่จะจัดการฝึกอบรมร่วมกับ วปส. อาทิ นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย
ซึ่งผู้แทน UNODC กล่าวชื่นชมแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดของสำนักงาน ป.ป.ส. และแสดงความพร้อม
ที่จะให้การสนับสนุนและเผยแพร่การการปรับนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทย ผ่านการแบ่งปัน
และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน พร้อมทั้งยืนยันการให้การสนับสนุนแก่ วปส. โดยจะมีการหารือแนวดำเนินการในอนาคตต่อไป
ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดกิจกรรมคู่ขนาน ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs: CND) สมัยที่ 67 ระหว่างวันที่ 14 – 22 มีนาคม 2567 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดย UNODC ได้แสดงความยินดีต่อการจัดกิจกรรมคู่ขนานและนิทรรศการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา และเชิญเลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในกิจกรรมคู่ขนานภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค และเข้าร่วมโครงการ Threat Assessment เพื่อศึกษาพื้นที่ การลำเลียงยาเสพติดในเส้นทาง เชียงราย-เชียงของ-มอฮั่น-คุณหมิง ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2567 และ การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่ายฯ ระหว่างวันที่ 28 – 29 พฤษภาคม 2567
ในตอนท้าย เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้เน้นย้ำบทบาทสำคัญขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สำนักงาน ป.ป.ส. อยู่ระหว่างการผลักดันให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ในการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ผู้ผ่านการบำบัดรักษา เพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวการดำเนินงานของ UNODC ที่เน้นการใช้สาธารณสุขนำและการปลุกให้ชุมชนต่อสู้กับปัญหายาเสพติด โดยได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมากจาก UNODC และ UNODC ได้กล่าวถึงเรื่องการบริหารจัดการชายแดน ซึ่งจะได้หารือร่วมกันในรายละเอียดต่อไป