สำนักงาน ป.ป.ส. หารือพัฒนาทางเลือกนโยบายการจัดการปัญหายาบ้า ครั้งที่ 2
1 min readวันที่ 2 มีนาคม 2567
พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการป.ป.ส. เผยถึง การประชุมพัฒนาทางเลือกนโยบายการจัดการปัญหายาบ้าที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด การผลิต และการพัฒนายาทดแทนยาบ้า ครั้งที่ 2 /2567 โดยมี
นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายธนากร คัยนันท์
ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปราม
ยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านการป้องกัน แก้ไข และปราบปรามปัญหายาเสพติด ร่วมประชุม หารือ แลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็น รายละเอียดในการขับเคลื่อนงานทางเลือกนโยบาย การจัดการปัญหายาบ้าที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด การผลิต และการพัฒนายาทดแทนยาบ้า ในประเด็น ตัวยาที่ใช้ในการทดแทนยาบ้า ตัวยาที่ใช้ในการบำบัดรักษายาบ้า กลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่ที่จะดำเนินการ ซึ่งจำเป็นต้องมีศึกษา วิจัย เพื่อให้เกิดข้อสรุปที่ชัดเจน และเกิดการยอมรับ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2567 ณ สำนักงาน ป.ป.ส.
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “ สำนักงาน ป.ป.ส. จัดระดมสมองร่วมกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงระบบในการแก้ไขปัญหาผู้ติดยาบ้า (เมทแอมเฟตามีน) ซึ่งเป็นปัญหายาเสพติดของประเทศไทย โดยที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันว่าจะดำเนินการ ดังนี้
(1) ศึกษาวิจัยทดลองยา เพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า(เมทแอมเฟตามีน) รวมถึง การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) สำหรับผู้ติดยาเสพติดเรื้อรังที่ไม่สามารถหยุดการใช้ยาเสพติดบางชนิดได้ในเวลาจำกัด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีตัวยาใดที่ใช้ในการบำบัดรักษาได้โดยตรง และยังไม่มีตัวยาใดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. จะนำมาตรา 55 (2) (3) ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดมาใช้ในการดำเนินงาน โดยสำนักงาน ป.ป.ส. จะเตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดพื้นที่ศึกษาวิจัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และ
(2) พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลในการแก้ไขปัญหาผู้ติดยาบ้า(เมทแอมเฟตามีน) เพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด ซึ่งประกอบไปด้วย การลงทะเบียนผู้ใช้ยาเสพติดด้วยดิจิทัลไอดี (Digital ID) และ การฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติดด้วยระบบจัดการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income)
แพลตฟอร์มดิจิทัลนี้ จะเริ่มจากการคัดกรองรูปแบบการใช้ยาเสพติด ประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ปัญหาสุขภาพกายและจิต ปัญหาครอบครัว สังคม การเงินและเศรษฐกิจ สามารถให้การช่วยเหลือและติดตามแก้ไขปัญหาผู้ใช้ยาเสพติด โดยมีเป้าหมาย ลดพฤติกรรมการสร้างความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อครอบครัวและสังคม การเพิ่มทักษะใหม่ด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพทางเลือกใหม่ ให้กับผู้เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ตามปกติสุขและสร้างสังคมปลอดภัยจากยาเสพติด “
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวต่อ
”เป็นการนำเอาประมวลกฎหมาย
ยาเสพติดมาใช้ในการขับเคลื่อนงาน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มุ่งแก้ไขปัญหาผู้ติดยาบ้า(เมทแอมเฟตามีน)อย่างครบวงจร สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล
นายเศรษฐา ทวีสิน และพันตำรวจเอก ทวีสอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
แบะแนวคิด เปลี่ยน “ผู้เสพ เป็น ผู้ป่วย”
ซึ่งต้องนำผู้ป่วยสู่กระบวนการบำบัดรักษาดูแล มีใช้ยารักษาและการนำเข้าสู่ระบบบำบัดมีวิธีการบำบัดที่ถูกต้อง ตามหลักสาธารณสุข ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืนต่อไป“